วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สิ่งมหัศจรรย์ใต้น้ำ 1.ยูนิคอร์นแห่งอาร์กติก ( Unicorn of the Arctic Ocean )

 นาร์วาฬ ยูนิคอร์นแห่งมหาสมุทร

         
                          นาร์วาฬ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Narwhal  ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Monodon monoceros  ฉายา ยูนิคอร์นแห่งมหาสมุทรอาร์กติก (arctic unicorn)  จัดเป็นวาฬมีฟัน ขนาดกลาง  ซึ่งใช้ชีวิตตลอดทั้งปีที่บริเวณ อาร์กติก  เป็น 1 ใน 2 ของสปีชีส์ วาฬวงศ์ โมโนคอนติแด  เช่นเดียวกับ วาฬเบลูกา  นาร์วาฬ เพศผู้มีลักษณะที่โดดเด่น คือ มีงาที่ยาว ตรง  เป็นเกลียวที่ยื่นมาจากกรามบนด้านซ้าย ซึ่งที่จริงแล้ว คือ ฟันเพียงซี่เดียว ที่อาจยาวได้ถึง 3 เมตร ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า มีไว้สำหรับทำอะไร เพราะ นาร์วาฬ ไม่ได้ใช้งาตรงนี้ในการขุดเจาะหาอาหาร หรือ ต่อสู้กันเอง 


             นาร์วาฬส่วนใหญ่ พบในบริเวณอาร์กติกของประเทศแคนาดา และเขตทะเลของประเทศกรีนแลนด์ อยู่ในบริเวณละติจูดที่ 65 องศาเหนือ ซึ่งพบหาได้ยาก  นาร์วาฬเป็นนักล่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเขตอาร์กติก มันหากินบริเวณพื้นใต้น้ำเป็นส่วนใหญ่ อาหาร ของนาร์วาฬ จะเป็น ปลาซีกเดียว  ที่ระดับความลึกถึง 1,500 เมตร ใต้ก้อนน้ำแข็งหนา

            ชาวอินูอิต อาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของแคนาดา และกรีนแลนด์  ได้สืบทอดการล่านาร์วาฬเพื่อเอาเนื้อและงามากว่าพันปี  การล่าเป็นไปเพื่อยังชีพ แบบควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้

            ในยุคกลาง งาของนาร์วาฬ ถูกขายในราคาที่สูงให้แก่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และถูกขนานนามว่า ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล

             นาร์วาฬเป็นนักล่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเขตอาร์กติก มันหากินบริเวณพื้นใต้น้ำเป็นส่วนใหญ่ อาหาร ของนาร์วาฬ จะเป็น ปลาซีกเดียว  ที่ระดับความลึกถึง 1,500 เมตร ใต้ก้อนน้ำแข็งหนา

            ชาวอินูอิต อาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของแคนาดา และกรีนแลนด์  ได้สืบทอดการล่านาร์วาฬเพื่อเอาเนื้อและงามากว่าพันปี  การล่าเป็นไปเพื่อยังชีพ แบบควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้


             นาร์วาฬจะปรากฏตัวขึ้นทุกปีในหน้าร้อน เพื่ออพยพย้ายถิ่น โดยใช้เส้นทางรอยแยกของน้ำแข็ง ในการอพยพ  ปกตินาร์วาฬจะหาอาหารในทะเลน้ำลึก  บริเวณใจกลางอ่าวบาฟฟิน (Baffin Bay) แถบประเทศแคนาดา ในช่วงฤดูหนาว เป็นไปได้ว่าเมื่อถึงฤดูร้อนอาหารหาได้ยากขึ้น เหล่านาร์วาฬจึงต้องเดินทางกลับสู่ดินแดนทะเลน้ำแข็งอีกครั้งหนึ่ง

               ทีมงานแผนกธรรมชาติวิทยา บีบีซีแห่งอังกฤษ (BBC) บันทึกภาพถ่ายฝูง นาร์วาฬ (narwhal) หรือ ซึ่งกำลังแหวกว่ายอยู่ตามรอยแยกของน้ำแข็ง พวกมันเหมือนสัตว์ในเทพนิยายที่มีอยู่จริง  งายาวที่ยื่นออกจากปากของนาร์วาฬ บิดเป็นเกลียว มีความยาวมากกว่า 2 เมตร มองดูคล้ายเขาของยูนิคอร์น  นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า งาของมันใช้เป็นสิ่งดึงดูดเพศตรงข้ามในการผสมพันธุ์


            ถึงแม้เราผู้อยู่ห่างไกลกันสุดกู่จากนาร์วาฬ  เราก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและให้กำลังใจให้พวกมันอยู่คู่กับเราไปนานเท่านาน 


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
นิตยสาร Go Genius  ปีที่ 4 ฉบับที่ 48  เมษายน  2552
วิกีพีเดีย



วิวัฒนาการโหราศาสตร์ของโลก บทที่ 5.6 เดโมคริตัส (Democritus)


                                                               6. เดโมคริตัส ( Democritus )  460 – 370 ปีก่อน ค.ศ.

                         เดโมคริตัส (Democritus) เป็นนักปรัชญาชาวกรีก ในราว 460 – 370 ปีก่อน ค.ศ.หรือ พ.ศ.83 – 173  ที่เมืองแอบเดรา  (Abdera)  ในแคว้นเธรส ( Thrace ) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของชายฝั่งทะเลอีเจียน เดโมคริตัส (Democritus) เป็นศิษย์ของผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาปรมาณูนิยม (The School Atomists ) ที่มีชื่อว่า ลีวซิพพุส (Leucippus) นักปรัชญาร่วมสมัยกับเขา คือ อาแนกซากอรัส (Anaxagoras) เดโมคริตัส (Democritus) ได้ใช้เวลาในการศึกษาโหราศาสตร์ในอียิปต์ เป็นเวลาถึง 7 ปี เขาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ไว้จำนวนมาก  และเขาเป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีปรมาณู (The  Atomic theory)  และระบบจักรวาลวิทยา (System of Cosmology)


                เดโมคริตัส (Democritus) เป็นนักปราชญ์รุ่นหลัง ของพีทากอรัส (Pythagoras) เขาเป็นผู้ที่ไขความลับเกี่ยวกับทางช้างเผือก (Milky  Way) ว่าเป็นดาวจำนวนมากที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น โดยใช้หลักทฤษฎีอะตอม มาอธิบาย เช่น การเคลื่อนไหวของอะตอมในอวกาศ ทำให้เห็นดวงจันทร์ เพราะอะตอมของดวงจันทร์ ได้เข้ามาสัมผัสในตาของเขา จึงทำให้เขาเห็นเช่นนั้น

                เขาไม่เชื่อเรื่องวิญญาณ เขาเชื่อว่าสิ่งเดียวที่มีอยู่คือ อะตอมและช่องว่าง เพราะเขาไม่เชื่อในอะไร นอกจากสิ่งที่จับต้องได้ เขาจึงได้รับสมญาอีกอย่างว่า นักวัตถุนิยม ซึ่งเขาเชื่อว่า แม้แต่วิญญาณก็เกิดมาจากอะตอมวิญญาณ ที่เมื่อสิ่งมีชีวิตตายอะตอมนี้จะกระจัดกระจายไปทุกทิศทุกทาง และกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณดวงใหม่ ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ไม่มีวิญญาณที่เป็นนิรันดร์ เดโมคริตัส (Democritus)   เชื่อว่า วิญญาณมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมอง ถ้าสมองเสื่อม มนุษย์ก็จะไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ว่ารูปแบบใด

                 ทฤษฎีอะตอมของ เดโมคริตัส (Democritus) ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคปรัชญาธรรมชาติกรีกในเวลานั้น เขาเห็นด้วยเฮราครีตัส ว่า ทุกสิ่งในธรรมชาติเลื่อนไหล เนื่องจากรูปแบบต่างๆเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไป แต่เบื้องหลังทุกอย่างที่เลื่อนไหลนั้น มีสิ่งที่เป็นนิรันดรและไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ อะตอม

                 เขากล่าวว่าปฐมธาตุไม่ใช่ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่คือปรมาณู หรือ อะตอม ซึ่งเขาได้ความหมายของคำว่าปรมาณูไว้ว่า “ปรมาณูเป็นวัตถุที่มีขนาดเล็กที่สุดไม่สามารถจะแบ่งย่อยได้อีกแล้ว จึงหมายถึงของสิ่งเดียวกับ “อะตอมที่หมายถึงสิ่งที่ไม่อาจตัดแบ่งออกไปได้อีก

Milky way
                   ดังนั้นปรมาณูหรืออะตอม จึงได้แก่ชิ้นส่วนเล็กที่สุดของสสารที่เหลืออยู่ภายหลังการตัดแบ่งสสารชิ้นหนึ่ง ๆ ปรมาณูนั้นเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดของสสาร มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นวัตถุดิบสำหรับการสร้างโลก มันมีอยู่ก่อนหน้าการกำเนิดของโลก เพราะปรมาณูเกิดขึ้น สรรพสิ่งจึงเกิดขึ้น เพราะปรมาณูแยกตัวออกจากกัน สรรพสิ่งจึงแตกสลาย

                   การเกิดจึงเป็นเพียงการรวมตัวกันของปรมาณูที่นอนรออยู่แล้ว ส่วนการดับเป็นการแยกตัวของปรมาณู โดยนัยนี้ปรมาณูจึงมีอยู่ก่อนการเกิดโลกและจะคงอยู่ต่อไปหลังโลกแตกสลาย ปรมาณูไม่มีการเกิดดับ ปรมาณูไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่มีวันถูกทำลาย ปรมาณูจึงเป็นความจริงแท้ของโลก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับภาวะ (Being) ของปาร์มีนิเดส   จะต่างกันก็ตรงที่ว่า ภาวะ เป็นมวลสารชิ้นเดียวขนาดมหึมาที่แผ่ติดกันเป็นผืดทั่วจักรวาล ส่วนปรมาณู ก็คือส่วนหนึ่งของภาวะ ที่ได้ถูกสับย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยเหตุนั้น สิ่งทั้งสองจึงมีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ เป็นความแท้ที่คงที่ถาวรชั่วนิรันตร์

                    เดโมคริตัส (Democritus) คิดว่าการเคลื่อนไหวของอะตอมไม่ได้เป็นไปตาม แบบ ที่วางไว้ล่วงหน้าในธรรมชาติ ทุกอย่างเกิดขึ้นค่อนข้างเป็นกลไก นั่นไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ แต่เพราะทุกอย่างต่างเป็นไปตามกฎแห่งความจำเป็น   ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุผลตามธรรมชาติที่ฝังอยู่ในสิ่งนั้นอยู่ก่อนแล้ว   ครั้งหนึ่งเดโมคริตัส (Democritus) ได้เคยกล่าวว่า เขาอยากเป็นผู้ค้นพบเหตุผลของธรรมชาติมากกว่าเป็นพระราชาแห่งเปอร์เซียเสียอีก

                    เดโมคริตัส (Democritus) คิดว่าทฤษฎีอะตอมของเขายังสามารถอธิบายเรื่องประสาทสัมผัสได้ด้วย จากการที่เรารู้สึกอะไรบางอย่างเป็นผลมากจากการเคลื่อนไหวของอะตอมในอวกาศ เขาเชื่อว่าแม้แต่วิญญาณก็เกิดมาจากอะตอมวิญญาณ ที่เมื่อสิ่งมีชีวิตตายอะตอมนี้จะกระจัดกระจายไปทุกทิศทุกทางและกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณดวงใหม่ ซึ่งหมายความว่า มนุษย์ไม่มีวิญญาณที่เป็นนิรันดร และเขาเป็นคนแรกที่ให้ความสำคัญ ต่อการให้ความพอใจแก่เวลา (time preference) โดยกล่าวว่า มนุษย์มักพอใจที่จะได้รับสิ่งของในปัจจุบันแทนที่จะเลื่อนไปรอรับในอนาคต เพราะเขาไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่จนแก่หรือไม่ ดังนั้น ของที่มีในมือเดี๋ยวนี้จะดีกว่าของที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต

the Ghost nebula

                    เดโมคริตัส (Democritus) ยังให้กำเนิดทฤษฎี มูลค่าที่เป็นอัตวิสัย (subjective value theory)   กล่าวว่าคุณค่าทางคุณธรรมและจริยธรรมจะต้องชัดเจนแน่นอน   แต่คุณค่าทางเศรษฐศาสตร์จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของอัตวิสัย เช่นเดียวกับที่ว่า ความดีและความจริงจะต้องเหมือนกันหมดสำหรับทุกคน   แต่ความสุขอาจจะแตกต่างกันไปตามการให้คุณค่าของแต่ละบุคคล   ไม่แต่เฉพาะการให้คุณค่าจะเป็นอัตวิสัยเท่านั้น   ความเป็นประโยชน์ (usefulness) ของสิ่งของ อาจจะหมดความหมายหรือแม้กระทั่งเป็นลบ ถ้าหากอุปทานมีมากเกินขอบเขต โดยชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากคนพยายามจำกัดอุปสงค์ของตนและลดความต้องการลง สิ่งของที่เขามีอยู่ในปัจจุบันจะทำให้เขารู้สึกมั่งคั่งขึ้นแทนที่จะรู้สึกว่ายากจนลง

                 ส่วนอีกแนวคิด เดโมคริตัส (Democritus) ได้วางแนวคิดในเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคล   ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจทางสังคมของกรีกเป็นระบบทรัพย์สินส่วนบุคคลแบบเอเธนส์ ส่วนการมีทรัพย์สินร่วมกันของอภิชนเป็นแบบของสปาร์ตา ซึ่งเขาสรุปว่า ทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นรูปแบบการจัดการทางเศรษฐกิจทีดีกว่า ซึ่งตรงกันข้ามกับการให้ชุมชนเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เนื่องจากรายได้จากทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมจะให้ความพึงพอใจแก่แต่ละบุคคลน้อยกว่า ทั้งการใช้จ่ายทรัพย์สินส่วนรวมก็ทำได้โดยไม่รู้สึกเดือดร้อน ความลำบากจากการทำงานจะเป็นความหวานชื่นมากกว่าความเกียจคร้าน  เมื่อคนรู้ว่าเขาได้รับผลตอบแทนจากหยาดเหงื่อของเขาและรู้ว่าจะใช้มันไปเพื่ออะไร  

                 เดโมคริตัส (Democritus) ได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญไว้มากที่สุดคนหนึ่งกว่า 60 ชิ้น แต่ได้สูญหายไปเกือบหมด ที่ยังเหลือปรากฎอยู่ให้เราได้รู้จักถึงปัจจุบันเป็นเพียงเศษเสี้ยว ผลงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ อภิปรัชญา ฟิสิกส์ จริยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และเขาได้รับสมญาว่า “เป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่” ในขณะนั้น

 
ขอบคุณแหล่งข้อมูล และภาพประกอบ

หลักสูตร “คัมภีร์สุริยยาตร์ ๒๕๕๐”ของมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ บรรยายโดย วรพล ไม้สน (พลังวัชร์)
Wiki

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

รู้หรือไม่ 1.เรื่องประหลาดของอัจฉริยะ

                                                เรื่องราวประหลาดของความเป็นอัจฉริยะ

                คนที่เป็นอัจฉริยะ กับคนที่มีความผิดปกติทางสมอง บางครั้งก็แยกกันไม่ออก ไอคิวสูงไม่ได้หมายความว่า ฉลาดเสมอไป คนที่มีความจำเป็นเลิศ หรือ คิดเลขเก่ง เขาทำได้อย่างไร ?
            คนที่เป็นอัจฉริยะบางครั้งก็เกิดจากความผิดปกติของสมอง  เราเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มอาการของคนเก่ง  เป็นอัจฉริยะประเภทพิเศษที่มีปัญหาทางจิต ซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งของคนอัจฉริยะเป็นโรคออทิสติก เพราะสมองไม่ได้พัฒนาเหมือนอย่างกับเด็กทั่วไป  มักจะมีโลกส่วนตัว ไม่สื่อสารกับผู้อื่น  และมีปัญหาในการทำความเข้าใจ แต่ 1 ใน 10 ของเด็กออทิสติก กลับมีความจำที่ดีเยี่ยม  มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี คณิตศาสตร์ หรือ ศิลปะ จนน่าทึ่ง

อัจฉริยะทางฟิสิกส์

 กลุ่มอาการของคนเก่งไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กออทิสติกเท่านั้น  แต่อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากความแปรปรวนทางสมองประเภทอื่น ๆ และบางครั้งอาจเกิดจากอุบัติเหตุอีกด้วย
พลังสมองของมนุษย์มาจากไหน เชื่อหรือไม่ว่า มนุษย์เราทุกคนเป็นอัจฉริยะ  เพราะเราเป็นมนุษย์ในสกุล โฮโมเซเปียนส์  ทำให้เราพูดได้ สามารถจัดการกับปัญหา  รวมถึงคิดเลขได้ ความมหัศจรรย์เช่นนี้มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้  แต่อะไรในสมองที่ทำให้เราทำได้ขนาดนี้  นักชีววิทยาเชื่อว่า เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับ คอร์เทกซ์ (Cortex) เนื้อชั้นนอกของสมองที่พบในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง   สมองมนุษย์มีการพัฒนาจนกลายเป็นรอยหยัก เส้นคดเคี้ยวและม้วนตัวอยู่บนพื้นผิวของสมอง 

อัจฉริยะทางจิตรกร

จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง พบว่า คอร์เทกซ์ บางส่วนของพวกเขาถูกทำลาย ส่งผลให้สูญเสียความทรงจำ รวมถึงความสามารถทางด้านต่าง ๆ ทั้งหมดนี้พิสูจน์ได้ว่า คอร์เทกซ์ เกี่ยวข้องกับการทำงานขั้นสูงของสมอง แล้ว
 คอร์เทกซ์ มีความพิเศษอย่างไร ขนาดของมันสามารถอธิบายอะไรได้หรือไม่  การที่คอร์เทกซ์มีขนาดใหญ่ หมายความว่า มันมีเซลส์ประสาทอยู่มาก  และยังมีวงจรมากมายอยู่ระหว่างเซลส์ประสาทอีกด้วย  แต่นักวิจัยชาวฮังการี กลุ่มหนึ่งได้ค้นพบบางสิ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำนวนเซลส์ของประสาทใน คอร์เทกซ์  เพราะพวกเขาตรวจพบเซลส์ ที่แตกกิ่งก้านคล้ายกับโคมไฟแชเดอเลียร์  พวกเขาจึงเรียกว่า เซลส์แชนเดอเลียร์ (chandelier  cell ) ซึ่งเซลส์เหล่านี้เชื่อมต่อกับเซลส์ประสาทหลายร้อยตัว ขณะกระตุ้นเซลส์แชนเดอร์เลียเพียงตัวเดียว

อัจฉริยะแห่งสงคราม

ซึ่ง เซลส์แชนเดอเลียร์ มันสามารถส่งกระแสประสาทไปให้เซลส์ประสาทในเครือข่ายที่มีจำนวน สูงสุดได้ถึง 500 ตัว พวกเขาจึงสรุปวา เพราะเซลส์แชนเดอเลียร์ เหล่านี้เองทำให้การกระตุ้นเพียงเล็กน้อย กลับแพร่กระจายไปทั่วสมอง โดยอาศัยเครือข่ายที่ซับซ้อนของเซลส์ประสาทซึ่งกระจายอยู่ ทำให้สมองของคนเรามีประสิทธิภาพดีกว่าสัตว์ประเภทอื่น


มีคำกล่าวว่า อัจฉริยะกับคนบ้า ใกล้กันนิดเดียว 

 วินเซนต์ แวนโก๊ะ  Vincent van Gogh ( เป็นชาวดัตช์ เกิดในปีค.ศ.1853 – ค.ศ. 1890)  จิตรกรเอกของโลก เขาฆ่าตัวตายเมื่ออายุ 37 ปี เพราะอาการประสาทกำเริบ แวนโก๊ะ ต้องทนทุกข์ทรมานกับปัญหาทางจิตเป็นอย่างมาก  สองปีก่อนหน้านั้น เขาถือมีดโกนหนวดไปข่มขู่โกแกง เพื่อนรักของเขาก่อนที่จะลงมือตัดหูข้างหนึ่งของตัวเองออก  แล้วนำไปให้หญิงโสเภณีคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ปีค.ศ.1888 หรือ พ.ศ.2431 และเขาได้วาดภาพตัวเองไว้จนกลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากในเวลาต่อมา  

เขาวาดภาพตัวเอง ในปีค.ศ. 1888 หรือ พ.ศ.2431 เป็นภาพดิมเพรสชั่นนิส อยู่ในพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

          เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะศิลปินเท่านั้น แต่ยังมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนที่สัมผัสกับความบ้ามาแล้ว
            จอห์น แนช ชาวอเมริกันที่มีการนำชีวประวัติของเขาไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง A Beautiful  Mild อัจฉริยะผู้คลั่งไคล้คณิตศาสตร์ผู้นี้ เริ่มฉายแววในหน้าที่การงาน ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูแซตส์ ในปี ค.ศ.1950 หรือ พ.ศ. 2493 เขาก็กลายเป็นคนน่าเอือมระอา ทะนงตน ก้าวร้าว และในปีค.ศ.1959 หรือ พ.ศ.2502 ขณะนั้นเขามีอายุ 31 ปี พฤติกรรมของเขาเริ่มส่อให้เห็นอาการของโรคจิตเภท (SchiZophrenia มาจากคำภาษากรีก skhizein  หมายถึง ตัดแบ่ง  และ phren หมายถึง วิญญาณ ซึ่งรวมกันแล้ว หมายถึง โรคทางจิตที่ทำให้เกิดอาการเพ้อและบุคลิกแปรปรวน รู้สึกว่าตัวเองคือคนแปลกหน้า) อย่างชัดเจน เช่น อาการหวาดระแวง ระวังภัยจากรอบด้าน และเห็นภาพหลอนตลอดเวลา เขาพยายามรักษาตัวอยู่หลายครั้ง ถึงแม้จะยังไม่หายขาดจากโรคที่ยังคงมองเห็นภาพหลอนอยู่ แต่เขาก็เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่กับอาการนั้น และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แต่โรคร้ายก็ทำให้เขาถูกไล่ออกจากงาน  บรรดานักคณิตศาสตร์ต่างถกเถียงกันอย่างมาก ก่อนจะตกลงมอบรางวัลโนเบลให้แก่เขาเมื่อ ค.ศ.1994 หรือ พ.ศ.2537 สำหรับทฤษฏีเกม (Theory of Games) ซึ่งเป็นทฤษฏีทางคณิตสาสตร์ประยุกต์ที่เป็นพื้นฐานของการเล่นเกมต่าง ๆ เช่น เกมหมากรุก เขาเป็นผู้ตั้งขึ้น ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่


จอห์น  แนช


            คูร์ท เกอเดิล นักคณิตศาสตร์ ผู้เขียนทฤษฏีบททางคณิตศาสตร์ เสียชีวิตลงเพราะความหิวโหยเมื่อปีค.ศ.1978 หรือ พ.ศ.2521 เนื่องจากหวาดระแวงว่าจะถูกวางยาพิษ
ดูร์ท เกอเดิล

            ลุดวิก โบลต์ชมันน์ นักฟิสิกส์ หนึ่งในบุคคลกลุ่มแรก ๆ ที่สนับสนุนความคิดที่ว่า อะตอมมีอยู่จริง ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดเขาก็ฆ่าตัวตายสำเร็จเมื่อ ปีค.ศ.1906 หรือ พ.ศ.2449
ลุดวิก โบลต์ชมันน์


            เกออร์ก คันทอร์ นักคณิตศาสตร์ ผู้มีชื่อเสียงจากการค้นคว้าเรื่องจำนวนเชิงอนันต์ หลงคิดว่าตัวเองเป็นผู้นำสารของพระเจ้า และใช้ชีวิตในวาระสุดท้ายอยู่ในโรงพยาบลประสาทแห่งหนึ่ง
เกออร์ก ดันทอร์
เราจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอัจฉริยะกับคนบ้าได้อย่างไร


“แน่นอนว่าคนเหล่านี้มักมีความรู้สึกในช่วงชีวิตหนึ่งว่าตัวเองเป็นเจ้าโลก”  แนนซี แอนเดรียเซน จิตแพทย์หญิงชาวอเมริกันให้คำตอบ “ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาคิดแตกต่างจากผู้อื่น และทำตัวผิดแผกออกไป โดยมีแนวโน้มที่พวกเขาจะมีพฤติกรกรมที่สุดโต่ง แต่ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะการเป็นอัจฉริยะไม่จำเป็นต้องเป็นคนบ้าเสมอไป”

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ

นิตยสาร Go  Genius  ปีที่ 5  ฉบับที่ 49 พฤษภาคม 2552
วิกีพีเดีย
          http://www.pinterest.com/jidapa88/art/

วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558

ดินแดนที่ยอดเยี่ยมของโลก 3.อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง (Phanom Rung Historical Park)

ดินแดนศักดิ์สิทธิ์

                          อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ  ปราสาทพนมรุ้ง ถือเป็น ปราสาทหินขอม เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุด ของประเทศไทย  และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกำลังอยู่ในเกณฑ์ พิจารณาให้เป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคาอื่นๆ    (ซึ่งปราสาทพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินกลุ่ม ราชมรรคา) ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ( บ้านดอนหนองแหน )  ตำบลตาเป๊ก  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดบุรีรัมย์  ซึ่งอยู่ห่างลงมาทางทิศใต้ของตัวเมือง เป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร

ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ความสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ซึ่งคำว่า พนมรุ้ง  นั้น มาจากภาษาเขมร  คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะก่อสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 จากการค้นพบจารึกต่างๆ สันนิษฐานว่า สมัยพระเจ้าราเชนทราวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งพระนคร ซึ่งอยู่ในปี พ.ศ. 1487 – 1511 หรือ ตรงกับปี ค.ศ.944 – 968 พระองค์ได้ทรงสถาปนา ปราสาทหินพนมรุ้ง ให้เป็นเทวสถานเพื่อถวายสักการะแด่องค์พระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู จากหลักฐานพบว่าในช่วงแรก  ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู  และยังไม่มีขนาดใหญ่เท่าใดนัก
ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 5 ซึ่งอยู่ในปี พ.ศ. 1511 – 1544  หรือ ตรงกับปี ค.ศ.968 – 1001 ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าของพระองค์ และจากหลักฐานที่พบพระองค์ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาส ถวายแด่องค์พระศิวะ เพื่อจะขยายสถานที่เทวสถานปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ให้รองรับกับพิธีกรรมต่าง ๆของพระองค์
 จนในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ท่าน นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งเมือง ราชวงศ์มหิธรปุระ ที่ปกครองดินแดนแถบนี้ ( ซึ่งเป็นต้นตระกูลของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้าง นครวัด ) ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อให้ดูสมบูรณ์แบบมากขึ้น และได้นำศิลปกรรมการตกแต่งมาจากขอม
ปราสาทหินพนมรุ้งแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะ ซึ่งเปรียบพนมรุ้งนี้เป็นเสมือน เขาไกรลาส อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ  ซึ่งนับถือ พระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ในศาสนาฮินดู
และพบว่าในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทำให้เทวสถานแห่งนี้ได้รับการดัดแปลงเป็น วัดมหายาน ในเวลาต่อมา
การออกแบบภายในของปราสาทหินพนมรุ้ง  มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง ยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง  คือ ปราสาทประธาน  ได้จำแนกออกเป็นส่วน ๆดังนี้

       ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ประกอบด้วย 15 ส่วน

ส่วนที่ 1. คือ บันไดต้นทาง ตั้งอยู่บริเวณตระพักเขา ด้านล่าง ทางทิศตะวันออก  ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ 3 ระดับ สุดบันไดขึ้นมาเป็น ชาลารูปกากบาท ปูด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่า เป็นฐานพลับพลาโถงสร้างด้วยไม้มุงกระเบื้อง

ส่วนที่ 2. คือ พลับพลา  เยื้องชาลารูปกากบาท ไปทางทิศเหนือ มีอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  หันหน้าไปทางทิศใต้ บนฐานพลับพลามีเสาหิน 8 ต้น ด้านข้างของอาคารมีระเบียงลักษณะเป็นห้องแคบยาวต่อเนื่องกัน มีมุขยื่นออกมา มีชาลาสำหรับขึ้นลงอยู่หน้ามุขรอบอาคาร 3 ด้าน อาคารนี้เดิมเรียกว่า “โรงช้างเผือก” แต่ในปัจจุบันเรียกว่า “พลับพลา” สันนิษฐานว่าเป็น พลับพลาเปลื้องเครื่อง สำหรับกษัตริย์ หรือ เจ้านายชั้นสูงที่จะใช้เป็นสถานที่ เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้แก่ตัวตน  ก่อนจะเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรกรมในภายในปราสาทประธานที่อยู่บนเขา  

ส่วนที่ 3. คือ ทางดำเนิน  เป็นทางเดินที่ต่อลงมาจากชาลารูปกากบาท ทอดไปยังสะพานนาค ปูพื้นด้วยศิลาแลง ขอบเป็นหินทราย สองข้างทางมีเสาหินทราย ยอดคล้ายดอกบัวตูม ข้างละ 35 ต้น รวมสองข้างเป็นจำนวน 70 ต้น เรียกว่า “เสานางเรียง” 

 ส่วนที่ 4. คือ สะพานนาคราชชั้นที่ 1   เป็นจุดเชื่อมทางดำเนินกับบันไดทางขึ้นปราสาทและทางลงสู่สระน้ำปากปล่องภูเขาไฟ มีจำนวน 52 ขั้น ก่อด้วยหินทรายผังเป็นรูปกากบาท  ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาคมี 5 เศียรหันหน้าออกแผ่พังพานทั้ง 4 ทิศ พญานาคมีรัศมีเป็นแผ่นสลักลายในแนวนอน  อันเป็นลักษณะ ศิลปกรรมแบบนครวัด  อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17
กลางสะพานสลักลายเส้นเป็นรูปดอกบัวบาน 8 กลีบ สันนิษฐานว่าอาจหมายถึง ทิศทั้งแปดแห่งจักรวาล และเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดู หรือ เป็นยันต์สำหรับบวงสรวงเทวดา หรือ เทพเจ้า  ดังนั้น สะพานนาคราช นี้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เปรียบเสมือน สะพานเชื่อมต่อระหว่าง โลกมนุษย์ กับ สวรรค์


 ส่วนที่ 5. คือ บันไดขึ้นปราสาท  เป็นทางเดินขึ้นไปยังลานบนยอดเขา ซึ่งทำเป็นบันไดก่อสร้างด้วยหินทรายแบ่งเป็นชั้นได้ 5 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้น จะมีลานพักเป็นพื้นราบกว้างพอสมควร ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง และที่ฐานของบันไดหินทรายนี้  มีรูปกรวยเจาะรูตรงกลางปรากฏอยู่ทุกชั้น ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่ามีไว้ทำไม

 ส่วนที่ 6. คือ ลานด้านหน้าปราสาท  จากบันไดขึ้นปราสาท ในส่วนที่ 5  ก็จะพบลานโล่งกว้าง อยู่ด้านหน้าระเบียงคดบริเวณลานโล่งกว้างดังกล่าว นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า น่าจะถูกสร้างอยู่บนฐานที่เกิดจากการถมที่ปรับระดับพื้นที่ภูเขา เพื่อให้เป็นสถานที่ใช้สอยกิจกรรมบางอย่าง  โดยลักษณะเป็นการยกพื้นเตี้ย ๆ และออกแบบรูปทรงเป็นกากบาท จากรูปทรงกากบาทนี้ จึงทำให้เกิดช่องทาง และช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ คล้ายสระ  อยู่ในตำแหน่ง ที่เป็นช่องว่าง ทั้ง 4 ช่อง  ซึ่งบริเวณดังกล่าวก่อสร้างด้วยศิลาแลง 

ส่วนที่ 7. คือ สะพานนาคราชชั้นที่ 2  สะพานนาคราชช่วงนี้มีผังและรูปแบบเหมือนกับสะพานนาคราชชั้นที่ 1 แต่มีขนาดย่อมกว่า  ตรงกลางของสะพานมีภาพสลักรูปดอกบัวบาน 8 กลีบเช่นกัน 

ส่วนที่ 8. คือ ลานปราสาทและระเบียงชั้นนอก   บริเวณนี้เป็นระเบียงที่มองเห็นเป็นทางเดินโล่ง ๆ ยกพื้นเตี้ย ๆ พื้นปูด้วยศิลาแลง ซึ่งสันนิษฐานว่า แต่เดิมบริเวณนี้คงจะเป็นระเบียงโถงหลังคาเรือนเครื่องไม้ มุงกระเบื้อง เพราะพบหลักฐานคือแนวเสา และเศษกระเบื้องดินเผาเป็นจำนวนมาก จัดว่าเป็นระเบียงชั้นนอกล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นในสุดของปราสาท

ส่วนที่ 9. คือ ซุ้มประตูและระเบียงชั้นใน  บริเวณนี้ ได้ถูกก่อสร้างขึ้นเป็นห้องรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวต่อเนื่องกันโดยรอบ  แต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ เพราะแต่ละห้องมีผนังกั้นไว้เป็นช่วง ๆ จากรูปแบบการก่อสร้างนี้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นกำแพงชั้นในก่อนจะถึงตัวชั้นในสุดของปราสาท ซึ่งเรียกว่า “ระเบียงคด” ซึ่งบริเวณกึ่งกลางระเบียงคดนี้ จะมีซุ้มประตู หรือ โคปุระทั้ง 4 ด้าน ซึ่งน่าจะหมายถึงทิศทั้ง 4  ผนังด้านนอกมีช่องที่มีลักษณะคล้ายหน้าต่าง แต่ไม่ใช่หน้าต่างทั้ง 4 ด้าน  และหน้าบันของระเบียงคด ฝั่งด้านทิศตะวันออก ปรากฏเป็นภาพ ฤาษี  ซึ่งสันนิษฐานว่า  น่าจะหมายถึง พระศิวะในปางผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย หรือ อาจจะเกี่ยวกับ “ท่านนเรนทราทิตย์ ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ก็เป็นได้    

ส่วนที่ 10. คือ สะพานนาคราชชั้นที่ 3  สะพานนาคราชชั้นนี้เป็นทางเชื่อมระหว่างซุ้มประตูกลางของระเบียงคดกำแพงชั้นใน กับ วิหารหน้าปราสาทประธาน ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับสะพานนาคราชชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 แต่เล็กกว่า

ส่วนที่ 11. คือ ปราสาทประธาน หรือ องค์ประธานปราสาทที่สำคัญที่สุด   เป็นศูนย์กลางของศาสนาสถาน บริเวณโดยรอบตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่างสร้าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ส่วนหน้าบัน ทับหลัง  และซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อสร้างขึ้นด้วยศิลาทรายสีชมพู ทั้งหมด และมีทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม หรือ เรียกว่า  “รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อเก็จ” (สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป) มีมุขยื่นออกมา 3 ด้าน  บริเวณด้านหน้าของปราสาทจะตรงกับทิศตะวันออก ซึ่งมีรูปทรงเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า  เรียกว่า “ วิหาร”  บริเวณดังกล่าวมีฉนวนเชื่อมระหว่างปราสาทประธาน กับ วิหาร บริเวณนี้เชื่อว่า ถูกสร้างโดย “ท่านนเรนทราทิตย์”  ในช่วงอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17  ภายในประกอบด้วยเรือนธาตุมีชื่อห้องว่า “ครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐานรูปศิวลึงค์  ซึ่งในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย นับถือเป็นสิ่งแทนองค์พระศิวะ อันเป็นเทพที่เคารพสำคัญที่สุด


        ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงท่อโสมสูตร คือ ร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์ ปราสาทประธานตกแต่งลวดลายจำหลัก ประดับตามส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพที่เกียวกับเรื่องเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เช่น หน้าบันจะเป็นภาพ ศิวนาฏราช (เป็นท่าทรงฟ้อนรำ) 


ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ (เป็นทับหลังที่ถูกขโมยไปเมื่อราวปี พ.ศ.2503 หรือ ปีค.ศ.1960 และได้กลับคืนมาในปี พ.ศ. 2531 หรือ ปีค.ศ.1988) และเป็นภาพในวรรณคดีอินเดียในเรื่อง รามายณะ (รามเกียรติ์ มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่)  มหาภารตะ  และภาพพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงภาพฤาษี เป็นต้น 
       
ส่วนที่ 12. คือ ปราสาทอิฐ 2 หลัง   ถัดจากปราสาทประธานแล้ว  เดินต่อมายังทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน  จะพบกับอาคารที่มีฐานก่อด้วยอิฐอยู่ 2 หลัง ปราสาทอิฐทั้ง 2 หลังนี้  สันนิษฐานว่า น่าจะก่อสร้างในช่วงอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุเก่าที่สุดบนเขาพนมรุ้งนี้ ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างเพื่ออะไร

ส่วนที่ 13. คือ ปรางค์น้อย  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของปราสาทประธาน  ปรางค์น้อยนี้ ถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ก่อสร้างด้วยศิลาทราย กรุผนังด้านในด้วยศิลาแลง ลักษณะปรางค์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว อยู่ด้านทิศตะวันออก ภายในห้องมีแท่นฐานหินทรายสันนิษฐานว่า น่าจะเอาไว้สำหรับประดิษฐานรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสมัยนั้น หน้าบันจะสลักเป็นรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ อยู่ท่ามกลางลวดลายพันธุ์พฤกษา

ส่วนที่ 14. คือ บรรณาลัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน  ก่อสร้างด้วยศิลาแลง มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทางเดียวเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าถูกสร้างในช่วงอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของการก่อสร้างปราสาทพนมรุ้ง บริเวณภายในไม่พบรูปใด ๆ  หลังคาของบรรณาลัย ทำเป็นรูปประทุนเรือ  คำว่า บรรณาลัย หมายถึง หอสมุด  สันนิษฐานว่า บริเวณแห่งนี้น่าจะเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์โบราณอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค และ ทางศาสนา แล้วตัวคัมภีร์ไปไหนยังเป็นปริศนาให้คบคิดกันต่อไป

ส่วนที่ 15. ส่วนสุดท้าย คือ อาคารก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน สร้างด้วยศิลาแลง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีประตูทางเข้าด้านเดียว คือ ทิศใต้ สภาพอาคารหลังนี้ชำรุดพังทลาย ไม่มีหลังคา ภายในไม่ปรากฏรูปใด ๆ ไม่มีหลักฐานเหลือให้สันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอะไร

ประวัติโดยรอบ  บริเวณเขาพนมรุ้งแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ เพราะจากหลักฐานที่พบ มีบาราย หรือ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของปากปล่องภูเขาไฟเดิม และที่เชิงเขาพนมรุ้งนี้มีบารายหรืออ่างเก็บน้ำอีก 2 สระ คือสระน้ำหนองบัวบาราย และสระน้ำโคกเมือง ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทหินเมืองต่ำ  สระน้ำเหล่านี้ได้รับน้ำมาจากธารน้ำที่ไหลลงมาจากบนเขาพนมรุ้ง

และนอกจากนี้ยังค้นพบว่า มีกุฏิฤาษีอยู่อีก 2 หลัง ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถานรักษาพยาบาล ที่เรียกว่า อโครยาศาล  ของชุมชนที่อยู่เชิงเขาแห่งนี้ และบริเวณที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้ง น่าจะเคยเป็นที่ตั้งของศาสนาประจำท้องถิ่น มาก่อนที่จะมีการก่อสร้างเป็นปราสาทพนมรุ้งในปัจจุบัน ซึ่งได้ค้นพบหลักฐานที่เรียกว่า  “กมรเตงชคตวฺนํรุง” แปลว่า ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งปราสาทพนมรุ้ง อันหมายถึง องค์พระศิวะ ในศาสนาฮินดู  ซึ่งในขณะนั้น กษัตริย์แห่งขอมทรงนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะ นับว่ามีการเปลี่ยนสถานที่เคารพเพื่อให้เป็นตามแบบคตินิยมของชนชาวขอม หรือ อาจจะมีการเปลี่ยนระบบการปกครองเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในท้องถิ่นกับกษัตริย์ขอม โดยใช้ความเชื่อทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมของทั้งสองระบบเป็นตัวเชื่อม

ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อยู่ในความดูแลของ กรมศิลปากร  ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง ด้วยวิธีการที่เรียกว่า อนัสติโลซิส (Anastylosis) ซึ่งเป็นวิธีการสมัยใหม่  คือ รื้อของเดิมลงมาและได้ทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง พร้อมกับนำชิ้นส่วนที่รื้อ รวมทั้งชิ้นส่วนที่ชำรุดเสียหาย นำกลับมาก่อใหม่เข้าที่เดิม ตามตำแหน่งที่ได้ทำรหัสไว้

ปราสาทหินพนมรุ้งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี พ.ศ.2478 หรือ ปี ค.ศ.1935  ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75และได้ดำเนินการบูรณะปราสาท ระหว่าง พ.ศ.2514 – 2531 หรือ ปีค.ศ.1971 – 1988 จนเสร็จสมบูรณ์

ต่อมาได้ประกาศขอบเขตโบราณสถาน  บนเนื้อที่  451 ไร่ 11 ตารางวา ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 93 ตอนที่ 141 วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2519 หรือ ค.ศ.1976 และกรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ขึ้นและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2531 หรือ ค.ศ.1988 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และได้กำหนดให้เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย อีกด้วย

 พร้อมกันนี้ทางจังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดให้มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เพื่อสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ของท้องถิ่น เพื่อให้ได้รำลึกถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้  งานนี้จัดเป็นประจำทุกปี  ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่ควรพลาด  โดยจัดให้มีวันที่ 2 – 4 เมษายน ของทุกปี

และอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ที่ไม่ควรพลาดไปชม นั่นคือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น แสงลอดผ่านช่องประตูทั้ง 15 บาน ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง  ให้ได้เห็นภูมิปัญญาของบรรพชน ที่น่าทึ่งในการคำนวณแนวของแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องอาศัยความช่างสังเกต และ ความอดทน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นได้ทุก ๆวัน  จะเป็นแค่ช่วงเวลาเท่านั้น คือ ในวันที่ 3 – 5 เดือนเมษายน  และช่วงวันที่ 8 – 10 กันยายน  จะเป็นปรากฏการณ์ ของแสงแรกของดวงอาทิตย์ขึ้น ที่สาดแสงส่องผ่านช่องประตูอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 15 บาน


ผู้เขียนเข้าใจเองว่า ชาวบ้านในยุคสมัยนั้นน่าที่จะเดินเท้าขึ้นไปเพื่อขอพรต่อสมมุติเทพ คือ องค์พระศิวะ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู  พรที่ขอก็น่าจะเกี่ยวกับเรื่องราวอะไรที่ต้องการเริ่มต้นใหม่ ๆ ขอพลังจากองค์เทพฯ ด้วยการผ่านปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นคือดวงอาทิตย์ ซึ่งเราต้องยอมรับกันจริง ๆว่า ดวงอาทิตย์ทรงพลังมาก  มากขนาดไหน  ก็คิดเอาเองแล้วกัน ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์ทุกสรรพสิ่งก็ไม่อาจจะอยู่ได้แน่   ด้วยหลักความเชื่อของศาสนา และน่าจะเกี่ยวข้องด้วยหลักโหราศาสตร์  เมื่อมีแสงแรกของดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว 

 ก็ต้องมีแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ตกด้วย จะอยู่ในช่วงวันที่ 6 – 8 มีนาคม และ ในช่วงวันที่ 6 – 8 ตุลาคม ของทุกปี ปรากฏการณ์แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์จะตกผ่านช่องประตูศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 15 บาน เช่นกัน  และด้วยหลักความเชื่อของศาสนา และหลักโหราศาสตร์แล้ว ผู้เขียนเข้าใจเองอีกว่า แสงสุดท้ายนี้ น่าที่จะเป็นการล้างอาถรรพ์ หรือ แก้คำอธิษฐานที่ไม่ดี  หรือ สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่ไม่ดี ไม่ราบรื่น ให้หายลับไปกับตะวัน หรือ ฝากองค์เทพพระศิวะ รับกับไปทิ้งให้ด้วย  (คือการปัดเป่า ความชั่วร้าย) เพราะถ้าสันนิษฐานด้วยหลักโหราศาสตร์แล้ว จุดเกิดจะเท่ากับจุดดับ  เป็นสิ่งเดียวกัน


 ซึ่งระหว่างช่องประตูทั้ง 15 บาน นี้ ช่องตรงกลาง ที่เป็นศูนย์กลางของปราสาทประธาน จะเป็นที่ประดิษฐานของ ศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทน องค์พระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุด ในความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะ พร้อมด้วย โคนนทิ (ซึ่งเป็นประติมากรรม รูปวัว  (Nandin) เป็นพาหนะของพระศิวะ ในตำนานกล่าวไว้ว่า โคนนทิ เป็นบุตรของ พระกัศยป กับ โคสุรภี   แต่เดิมองค์พระศิวะเห็นโคสุรภีร์ทรงอยากได้มาเป็นบริวารของพระองค์   แต่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นเพศเมีย  จึงมิอาจรับไว้ได้  พระกัศยป จึงอาสาผสมพันธุ์กับโคสุรภี   และได้ให้กำเนิดเป็นวัวเพศผู้ มีชื่อว่า “นนทิ” จึงได้นำ “นนทิ” มาถวายเป็นบริวารแก่องค์พระศิวะ และได้ให้ “นนทิ” ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตูวิมาน บนเขาไกรลาส ด้านทิศตะวันออก คู่กับ ท้าวมหากาล ซึ่งทำหน้าที่เป็นเทพพาหนะ เมื่อ องค์พระศิวะจะเสด็จออกสู่ภายนอก )  ซึ่งอยู่เคียงข้างพระศิวะ

ในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2551 (ค.ศ.2008) ได้มีข่าวร้ายสำหรับงานอนุรักษ์มรดกไทยชิ้นนี้ ได้มีกลุ่มคนไม่ทราบจำนวนเข้าทุบทำลาย รูปปั้น สิงห์ พญานาค ทวารบาล และ โคนนทิ สัตว์พาหนะของพระศิวะ  รวมถึงมีการเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ จากการสันนิษฐาน ของนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์อิสระ ว่าในที่เกิดเหตุ  ได้มีการหักข้อมือของเทวรูปทวารบาล แล้วนำชิ้นส่วนดังกล่าวของเทวรูปทวารบาลไปทุบทำลายบนใบหน้าสัตว์พาหนะอื่นๆ  

นายดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้ชี้แจ้งว่า เทวรูปที่ถูกทำลายเสียหายมีของจริงเพียง เศียรนาค 4 เศียร จากที่มีอยู่ 11 เศียร นอกนั้นเป็นเทวรูปที่จำลองขึ้น ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 นายช่างศิลปกรรม เจ้าหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เริ่มบูรณะซ่อมแซม โดยเริ่มจากซ่อมหัวสิงห์ 2 ตัว ที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของปราสาทก่อน  วัสดุที่ใช้ในการซ่อมแซม คือ เหล็กไร้สนิม สำหรับเป็นแกนยึด ส่วนวัสดุประกอบด้วย ยางพารา หินทรายเทียม สีฝุ่น ขุยมะพร้าว ปูนปลาสเตอร์ และเชื่อมประสานด้วย อิพ็อกซี โดยทางกรมศิลปากรได้กำหนดระยะเวลาบูรณะปฏิสังขรณ์นี้ 1 เดือน ซึ่งขณะนั้น นายธานี สามารถกิจ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

 ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปราสาทหินพนมรุ้ง ได้นำเอามาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์  และรวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของ ทีมสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีกด้วย
การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล  
ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์ – นางรอง) ด้วยระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว – อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ ระยะทางอีกประมาณ 12 กิโลเมตร จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์ – ประโคนชัย) ด้วยระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอ.ประโคนชัย ทางแยกจะมีป้ายบอกทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จากแยกระยะทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร และใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2075 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ ระยะทางอีกประมาณ 12 กิโลเมตร จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เดินทางโดยใช้รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ปลายทางที่จังหวัดบุรีรัมย์ จากขนส่งบุรีรัมย์ เดินทางต่อด้วยรถโดยสารท้องถิ่น สาย บุรีรัมย์ – จันทบุรี  ลงหมู่บ้านตะโก  มีรถสองแถวไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
 เวลาทำการ  06.00 -18.00 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
            ที่ติดต่อ ตู้ปณ.3 ปท.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ 31110
            หมายเลขโทรศัพท์ 044-666251-2 โทรสาร 044-666252

ขอบคุณแหล่งข้อมูล และภาพประกอบ
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
วิกีพีเดีย