วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558

ดินแดนที่ยอดเยี่ยมของโลก 3.อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง (Phanom Rung Historical Park)

ดินแดนศักดิ์สิทธิ์

                          อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ  ปราสาทพนมรุ้ง ถือเป็น ปราสาทหินขอม เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุด ของประเทศไทย  และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกำลังอยู่ในเกณฑ์ พิจารณาให้เป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคาอื่นๆ    (ซึ่งปราสาทพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินกลุ่ม ราชมรรคา) ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ( บ้านดอนหนองแหน )  ตำบลตาเป๊ก  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดบุรีรัมย์  ซึ่งอยู่ห่างลงมาทางทิศใต้ของตัวเมือง เป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร

ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ความสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ซึ่งคำว่า พนมรุ้ง  นั้น มาจากภาษาเขมร  คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะก่อสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 จากการค้นพบจารึกต่างๆ สันนิษฐานว่า สมัยพระเจ้าราเชนทราวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งพระนคร ซึ่งอยู่ในปี พ.ศ. 1487 – 1511 หรือ ตรงกับปี ค.ศ.944 – 968 พระองค์ได้ทรงสถาปนา ปราสาทหินพนมรุ้ง ให้เป็นเทวสถานเพื่อถวายสักการะแด่องค์พระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู จากหลักฐานพบว่าในช่วงแรก  ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู  และยังไม่มีขนาดใหญ่เท่าใดนัก
ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 5 ซึ่งอยู่ในปี พ.ศ. 1511 – 1544  หรือ ตรงกับปี ค.ศ.968 – 1001 ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าของพระองค์ และจากหลักฐานที่พบพระองค์ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาส ถวายแด่องค์พระศิวะ เพื่อจะขยายสถานที่เทวสถานปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ให้รองรับกับพิธีกรรมต่าง ๆของพระองค์
 จนในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ท่าน นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งเมือง ราชวงศ์มหิธรปุระ ที่ปกครองดินแดนแถบนี้ ( ซึ่งเป็นต้นตระกูลของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้าง นครวัด ) ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อให้ดูสมบูรณ์แบบมากขึ้น และได้นำศิลปกรรมการตกแต่งมาจากขอม
ปราสาทหินพนมรุ้งแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะ ซึ่งเปรียบพนมรุ้งนี้เป็นเสมือน เขาไกรลาส อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ  ซึ่งนับถือ พระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ในศาสนาฮินดู
และพบว่าในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทำให้เทวสถานแห่งนี้ได้รับการดัดแปลงเป็น วัดมหายาน ในเวลาต่อมา
การออกแบบภายในของปราสาทหินพนมรุ้ง  มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง ยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง  คือ ปราสาทประธาน  ได้จำแนกออกเป็นส่วน ๆดังนี้

       ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ประกอบด้วย 15 ส่วน

ส่วนที่ 1. คือ บันไดต้นทาง ตั้งอยู่บริเวณตระพักเขา ด้านล่าง ทางทิศตะวันออก  ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ 3 ระดับ สุดบันไดขึ้นมาเป็น ชาลารูปกากบาท ปูด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่า เป็นฐานพลับพลาโถงสร้างด้วยไม้มุงกระเบื้อง

ส่วนที่ 2. คือ พลับพลา  เยื้องชาลารูปกากบาท ไปทางทิศเหนือ มีอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  หันหน้าไปทางทิศใต้ บนฐานพลับพลามีเสาหิน 8 ต้น ด้านข้างของอาคารมีระเบียงลักษณะเป็นห้องแคบยาวต่อเนื่องกัน มีมุขยื่นออกมา มีชาลาสำหรับขึ้นลงอยู่หน้ามุขรอบอาคาร 3 ด้าน อาคารนี้เดิมเรียกว่า “โรงช้างเผือก” แต่ในปัจจุบันเรียกว่า “พลับพลา” สันนิษฐานว่าเป็น พลับพลาเปลื้องเครื่อง สำหรับกษัตริย์ หรือ เจ้านายชั้นสูงที่จะใช้เป็นสถานที่ เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้แก่ตัวตน  ก่อนจะเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรกรมในภายในปราสาทประธานที่อยู่บนเขา  

ส่วนที่ 3. คือ ทางดำเนิน  เป็นทางเดินที่ต่อลงมาจากชาลารูปกากบาท ทอดไปยังสะพานนาค ปูพื้นด้วยศิลาแลง ขอบเป็นหินทราย สองข้างทางมีเสาหินทราย ยอดคล้ายดอกบัวตูม ข้างละ 35 ต้น รวมสองข้างเป็นจำนวน 70 ต้น เรียกว่า “เสานางเรียง” 

 ส่วนที่ 4. คือ สะพานนาคราชชั้นที่ 1   เป็นจุดเชื่อมทางดำเนินกับบันไดทางขึ้นปราสาทและทางลงสู่สระน้ำปากปล่องภูเขาไฟ มีจำนวน 52 ขั้น ก่อด้วยหินทรายผังเป็นรูปกากบาท  ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาคมี 5 เศียรหันหน้าออกแผ่พังพานทั้ง 4 ทิศ พญานาคมีรัศมีเป็นแผ่นสลักลายในแนวนอน  อันเป็นลักษณะ ศิลปกรรมแบบนครวัด  อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17
กลางสะพานสลักลายเส้นเป็นรูปดอกบัวบาน 8 กลีบ สันนิษฐานว่าอาจหมายถึง ทิศทั้งแปดแห่งจักรวาล และเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดู หรือ เป็นยันต์สำหรับบวงสรวงเทวดา หรือ เทพเจ้า  ดังนั้น สะพานนาคราช นี้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เปรียบเสมือน สะพานเชื่อมต่อระหว่าง โลกมนุษย์ กับ สวรรค์


 ส่วนที่ 5. คือ บันไดขึ้นปราสาท  เป็นทางเดินขึ้นไปยังลานบนยอดเขา ซึ่งทำเป็นบันไดก่อสร้างด้วยหินทรายแบ่งเป็นชั้นได้ 5 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้น จะมีลานพักเป็นพื้นราบกว้างพอสมควร ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง และที่ฐานของบันไดหินทรายนี้  มีรูปกรวยเจาะรูตรงกลางปรากฏอยู่ทุกชั้น ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่ามีไว้ทำไม

 ส่วนที่ 6. คือ ลานด้านหน้าปราสาท  จากบันไดขึ้นปราสาท ในส่วนที่ 5  ก็จะพบลานโล่งกว้าง อยู่ด้านหน้าระเบียงคดบริเวณลานโล่งกว้างดังกล่าว นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า น่าจะถูกสร้างอยู่บนฐานที่เกิดจากการถมที่ปรับระดับพื้นที่ภูเขา เพื่อให้เป็นสถานที่ใช้สอยกิจกรรมบางอย่าง  โดยลักษณะเป็นการยกพื้นเตี้ย ๆ และออกแบบรูปทรงเป็นกากบาท จากรูปทรงกากบาทนี้ จึงทำให้เกิดช่องทาง และช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ คล้ายสระ  อยู่ในตำแหน่ง ที่เป็นช่องว่าง ทั้ง 4 ช่อง  ซึ่งบริเวณดังกล่าวก่อสร้างด้วยศิลาแลง 

ส่วนที่ 7. คือ สะพานนาคราชชั้นที่ 2  สะพานนาคราชช่วงนี้มีผังและรูปแบบเหมือนกับสะพานนาคราชชั้นที่ 1 แต่มีขนาดย่อมกว่า  ตรงกลางของสะพานมีภาพสลักรูปดอกบัวบาน 8 กลีบเช่นกัน 

ส่วนที่ 8. คือ ลานปราสาทและระเบียงชั้นนอก   บริเวณนี้เป็นระเบียงที่มองเห็นเป็นทางเดินโล่ง ๆ ยกพื้นเตี้ย ๆ พื้นปูด้วยศิลาแลง ซึ่งสันนิษฐานว่า แต่เดิมบริเวณนี้คงจะเป็นระเบียงโถงหลังคาเรือนเครื่องไม้ มุงกระเบื้อง เพราะพบหลักฐานคือแนวเสา และเศษกระเบื้องดินเผาเป็นจำนวนมาก จัดว่าเป็นระเบียงชั้นนอกล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นในสุดของปราสาท

ส่วนที่ 9. คือ ซุ้มประตูและระเบียงชั้นใน  บริเวณนี้ ได้ถูกก่อสร้างขึ้นเป็นห้องรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวต่อเนื่องกันโดยรอบ  แต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ เพราะแต่ละห้องมีผนังกั้นไว้เป็นช่วง ๆ จากรูปแบบการก่อสร้างนี้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นกำแพงชั้นในก่อนจะถึงตัวชั้นในสุดของปราสาท ซึ่งเรียกว่า “ระเบียงคด” ซึ่งบริเวณกึ่งกลางระเบียงคดนี้ จะมีซุ้มประตู หรือ โคปุระทั้ง 4 ด้าน ซึ่งน่าจะหมายถึงทิศทั้ง 4  ผนังด้านนอกมีช่องที่มีลักษณะคล้ายหน้าต่าง แต่ไม่ใช่หน้าต่างทั้ง 4 ด้าน  และหน้าบันของระเบียงคด ฝั่งด้านทิศตะวันออก ปรากฏเป็นภาพ ฤาษี  ซึ่งสันนิษฐานว่า  น่าจะหมายถึง พระศิวะในปางผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย หรือ อาจจะเกี่ยวกับ “ท่านนเรนทราทิตย์ ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ก็เป็นได้    

ส่วนที่ 10. คือ สะพานนาคราชชั้นที่ 3  สะพานนาคราชชั้นนี้เป็นทางเชื่อมระหว่างซุ้มประตูกลางของระเบียงคดกำแพงชั้นใน กับ วิหารหน้าปราสาทประธาน ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับสะพานนาคราชชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 แต่เล็กกว่า

ส่วนที่ 11. คือ ปราสาทประธาน หรือ องค์ประธานปราสาทที่สำคัญที่สุด   เป็นศูนย์กลางของศาสนาสถาน บริเวณโดยรอบตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่างสร้าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ส่วนหน้าบัน ทับหลัง  และซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อสร้างขึ้นด้วยศิลาทรายสีชมพู ทั้งหมด และมีทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม หรือ เรียกว่า  “รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อเก็จ” (สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป) มีมุขยื่นออกมา 3 ด้าน  บริเวณด้านหน้าของปราสาทจะตรงกับทิศตะวันออก ซึ่งมีรูปทรงเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า  เรียกว่า “ วิหาร”  บริเวณดังกล่าวมีฉนวนเชื่อมระหว่างปราสาทประธาน กับ วิหาร บริเวณนี้เชื่อว่า ถูกสร้างโดย “ท่านนเรนทราทิตย์”  ในช่วงอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17  ภายในประกอบด้วยเรือนธาตุมีชื่อห้องว่า “ครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐานรูปศิวลึงค์  ซึ่งในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย นับถือเป็นสิ่งแทนองค์พระศิวะ อันเป็นเทพที่เคารพสำคัญที่สุด


        ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงท่อโสมสูตร คือ ร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์ ปราสาทประธานตกแต่งลวดลายจำหลัก ประดับตามส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพที่เกียวกับเรื่องเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เช่น หน้าบันจะเป็นภาพ ศิวนาฏราช (เป็นท่าทรงฟ้อนรำ) 


ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ (เป็นทับหลังที่ถูกขโมยไปเมื่อราวปี พ.ศ.2503 หรือ ปีค.ศ.1960 และได้กลับคืนมาในปี พ.ศ. 2531 หรือ ปีค.ศ.1988) และเป็นภาพในวรรณคดีอินเดียในเรื่อง รามายณะ (รามเกียรติ์ มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่)  มหาภารตะ  และภาพพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงภาพฤาษี เป็นต้น 
       
ส่วนที่ 12. คือ ปราสาทอิฐ 2 หลัง   ถัดจากปราสาทประธานแล้ว  เดินต่อมายังทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน  จะพบกับอาคารที่มีฐานก่อด้วยอิฐอยู่ 2 หลัง ปราสาทอิฐทั้ง 2 หลังนี้  สันนิษฐานว่า น่าจะก่อสร้างในช่วงอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุเก่าที่สุดบนเขาพนมรุ้งนี้ ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างเพื่ออะไร

ส่วนที่ 13. คือ ปรางค์น้อย  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของปราสาทประธาน  ปรางค์น้อยนี้ ถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ก่อสร้างด้วยศิลาทราย กรุผนังด้านในด้วยศิลาแลง ลักษณะปรางค์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว อยู่ด้านทิศตะวันออก ภายในห้องมีแท่นฐานหินทรายสันนิษฐานว่า น่าจะเอาไว้สำหรับประดิษฐานรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสมัยนั้น หน้าบันจะสลักเป็นรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ อยู่ท่ามกลางลวดลายพันธุ์พฤกษา

ส่วนที่ 14. คือ บรรณาลัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน  ก่อสร้างด้วยศิลาแลง มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทางเดียวเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าถูกสร้างในช่วงอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของการก่อสร้างปราสาทพนมรุ้ง บริเวณภายในไม่พบรูปใด ๆ  หลังคาของบรรณาลัย ทำเป็นรูปประทุนเรือ  คำว่า บรรณาลัย หมายถึง หอสมุด  สันนิษฐานว่า บริเวณแห่งนี้น่าจะเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์โบราณอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค และ ทางศาสนา แล้วตัวคัมภีร์ไปไหนยังเป็นปริศนาให้คบคิดกันต่อไป

ส่วนที่ 15. ส่วนสุดท้าย คือ อาคารก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน สร้างด้วยศิลาแลง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีประตูทางเข้าด้านเดียว คือ ทิศใต้ สภาพอาคารหลังนี้ชำรุดพังทลาย ไม่มีหลังคา ภายในไม่ปรากฏรูปใด ๆ ไม่มีหลักฐานเหลือให้สันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอะไร

ประวัติโดยรอบ  บริเวณเขาพนมรุ้งแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ เพราะจากหลักฐานที่พบ มีบาราย หรือ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของปากปล่องภูเขาไฟเดิม และที่เชิงเขาพนมรุ้งนี้มีบารายหรืออ่างเก็บน้ำอีก 2 สระ คือสระน้ำหนองบัวบาราย และสระน้ำโคกเมือง ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทหินเมืองต่ำ  สระน้ำเหล่านี้ได้รับน้ำมาจากธารน้ำที่ไหลลงมาจากบนเขาพนมรุ้ง

และนอกจากนี้ยังค้นพบว่า มีกุฏิฤาษีอยู่อีก 2 หลัง ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถานรักษาพยาบาล ที่เรียกว่า อโครยาศาล  ของชุมชนที่อยู่เชิงเขาแห่งนี้ และบริเวณที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้ง น่าจะเคยเป็นที่ตั้งของศาสนาประจำท้องถิ่น มาก่อนที่จะมีการก่อสร้างเป็นปราสาทพนมรุ้งในปัจจุบัน ซึ่งได้ค้นพบหลักฐานที่เรียกว่า  “กมรเตงชคตวฺนํรุง” แปลว่า ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งปราสาทพนมรุ้ง อันหมายถึง องค์พระศิวะ ในศาสนาฮินดู  ซึ่งในขณะนั้น กษัตริย์แห่งขอมทรงนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะ นับว่ามีการเปลี่ยนสถานที่เคารพเพื่อให้เป็นตามแบบคตินิยมของชนชาวขอม หรือ อาจจะมีการเปลี่ยนระบบการปกครองเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในท้องถิ่นกับกษัตริย์ขอม โดยใช้ความเชื่อทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมของทั้งสองระบบเป็นตัวเชื่อม

ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อยู่ในความดูแลของ กรมศิลปากร  ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง ด้วยวิธีการที่เรียกว่า อนัสติโลซิส (Anastylosis) ซึ่งเป็นวิธีการสมัยใหม่  คือ รื้อของเดิมลงมาและได้ทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง พร้อมกับนำชิ้นส่วนที่รื้อ รวมทั้งชิ้นส่วนที่ชำรุดเสียหาย นำกลับมาก่อใหม่เข้าที่เดิม ตามตำแหน่งที่ได้ทำรหัสไว้

ปราสาทหินพนมรุ้งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี พ.ศ.2478 หรือ ปี ค.ศ.1935  ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75และได้ดำเนินการบูรณะปราสาท ระหว่าง พ.ศ.2514 – 2531 หรือ ปีค.ศ.1971 – 1988 จนเสร็จสมบูรณ์

ต่อมาได้ประกาศขอบเขตโบราณสถาน  บนเนื้อที่  451 ไร่ 11 ตารางวา ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 93 ตอนที่ 141 วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2519 หรือ ค.ศ.1976 และกรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ขึ้นและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2531 หรือ ค.ศ.1988 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และได้กำหนดให้เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย อีกด้วย

 พร้อมกันนี้ทางจังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดให้มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เพื่อสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ของท้องถิ่น เพื่อให้ได้รำลึกถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้  งานนี้จัดเป็นประจำทุกปี  ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่ควรพลาด  โดยจัดให้มีวันที่ 2 – 4 เมษายน ของทุกปี

และอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ที่ไม่ควรพลาดไปชม นั่นคือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น แสงลอดผ่านช่องประตูทั้ง 15 บาน ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง  ให้ได้เห็นภูมิปัญญาของบรรพชน ที่น่าทึ่งในการคำนวณแนวของแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องอาศัยความช่างสังเกต และ ความอดทน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นได้ทุก ๆวัน  จะเป็นแค่ช่วงเวลาเท่านั้น คือ ในวันที่ 3 – 5 เดือนเมษายน  และช่วงวันที่ 8 – 10 กันยายน  จะเป็นปรากฏการณ์ ของแสงแรกของดวงอาทิตย์ขึ้น ที่สาดแสงส่องผ่านช่องประตูอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 15 บาน


ผู้เขียนเข้าใจเองว่า ชาวบ้านในยุคสมัยนั้นน่าที่จะเดินเท้าขึ้นไปเพื่อขอพรต่อสมมุติเทพ คือ องค์พระศิวะ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู  พรที่ขอก็น่าจะเกี่ยวกับเรื่องราวอะไรที่ต้องการเริ่มต้นใหม่ ๆ ขอพลังจากองค์เทพฯ ด้วยการผ่านปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นคือดวงอาทิตย์ ซึ่งเราต้องยอมรับกันจริง ๆว่า ดวงอาทิตย์ทรงพลังมาก  มากขนาดไหน  ก็คิดเอาเองแล้วกัน ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์ทุกสรรพสิ่งก็ไม่อาจจะอยู่ได้แน่   ด้วยหลักความเชื่อของศาสนา และน่าจะเกี่ยวข้องด้วยหลักโหราศาสตร์  เมื่อมีแสงแรกของดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว 

 ก็ต้องมีแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ตกด้วย จะอยู่ในช่วงวันที่ 6 – 8 มีนาคม และ ในช่วงวันที่ 6 – 8 ตุลาคม ของทุกปี ปรากฏการณ์แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์จะตกผ่านช่องประตูศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 15 บาน เช่นกัน  และด้วยหลักความเชื่อของศาสนา และหลักโหราศาสตร์แล้ว ผู้เขียนเข้าใจเองอีกว่า แสงสุดท้ายนี้ น่าที่จะเป็นการล้างอาถรรพ์ หรือ แก้คำอธิษฐานที่ไม่ดี  หรือ สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่ไม่ดี ไม่ราบรื่น ให้หายลับไปกับตะวัน หรือ ฝากองค์เทพพระศิวะ รับกับไปทิ้งให้ด้วย  (คือการปัดเป่า ความชั่วร้าย) เพราะถ้าสันนิษฐานด้วยหลักโหราศาสตร์แล้ว จุดเกิดจะเท่ากับจุดดับ  เป็นสิ่งเดียวกัน


 ซึ่งระหว่างช่องประตูทั้ง 15 บาน นี้ ช่องตรงกลาง ที่เป็นศูนย์กลางของปราสาทประธาน จะเป็นที่ประดิษฐานของ ศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทน องค์พระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุด ในความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะ พร้อมด้วย โคนนทิ (ซึ่งเป็นประติมากรรม รูปวัว  (Nandin) เป็นพาหนะของพระศิวะ ในตำนานกล่าวไว้ว่า โคนนทิ เป็นบุตรของ พระกัศยป กับ โคสุรภี   แต่เดิมองค์พระศิวะเห็นโคสุรภีร์ทรงอยากได้มาเป็นบริวารของพระองค์   แต่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นเพศเมีย  จึงมิอาจรับไว้ได้  พระกัศยป จึงอาสาผสมพันธุ์กับโคสุรภี   และได้ให้กำเนิดเป็นวัวเพศผู้ มีชื่อว่า “นนทิ” จึงได้นำ “นนทิ” มาถวายเป็นบริวารแก่องค์พระศิวะ และได้ให้ “นนทิ” ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตูวิมาน บนเขาไกรลาส ด้านทิศตะวันออก คู่กับ ท้าวมหากาล ซึ่งทำหน้าที่เป็นเทพพาหนะ เมื่อ องค์พระศิวะจะเสด็จออกสู่ภายนอก )  ซึ่งอยู่เคียงข้างพระศิวะ

ในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2551 (ค.ศ.2008) ได้มีข่าวร้ายสำหรับงานอนุรักษ์มรดกไทยชิ้นนี้ ได้มีกลุ่มคนไม่ทราบจำนวนเข้าทุบทำลาย รูปปั้น สิงห์ พญานาค ทวารบาล และ โคนนทิ สัตว์พาหนะของพระศิวะ  รวมถึงมีการเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ จากการสันนิษฐาน ของนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์อิสระ ว่าในที่เกิดเหตุ  ได้มีการหักข้อมือของเทวรูปทวารบาล แล้วนำชิ้นส่วนดังกล่าวของเทวรูปทวารบาลไปทุบทำลายบนใบหน้าสัตว์พาหนะอื่นๆ  

นายดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้ชี้แจ้งว่า เทวรูปที่ถูกทำลายเสียหายมีของจริงเพียง เศียรนาค 4 เศียร จากที่มีอยู่ 11 เศียร นอกนั้นเป็นเทวรูปที่จำลองขึ้น ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 นายช่างศิลปกรรม เจ้าหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เริ่มบูรณะซ่อมแซม โดยเริ่มจากซ่อมหัวสิงห์ 2 ตัว ที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของปราสาทก่อน  วัสดุที่ใช้ในการซ่อมแซม คือ เหล็กไร้สนิม สำหรับเป็นแกนยึด ส่วนวัสดุประกอบด้วย ยางพารา หินทรายเทียม สีฝุ่น ขุยมะพร้าว ปูนปลาสเตอร์ และเชื่อมประสานด้วย อิพ็อกซี โดยทางกรมศิลปากรได้กำหนดระยะเวลาบูรณะปฏิสังขรณ์นี้ 1 เดือน ซึ่งขณะนั้น นายธานี สามารถกิจ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

 ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปราสาทหินพนมรุ้ง ได้นำเอามาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์  และรวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของ ทีมสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีกด้วย
การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล  
ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์ – นางรอง) ด้วยระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว – อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ ระยะทางอีกประมาณ 12 กิโลเมตร จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์ – ประโคนชัย) ด้วยระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอ.ประโคนชัย ทางแยกจะมีป้ายบอกทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จากแยกระยะทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร และใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2075 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ ระยะทางอีกประมาณ 12 กิโลเมตร จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เดินทางโดยใช้รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ปลายทางที่จังหวัดบุรีรัมย์ จากขนส่งบุรีรัมย์ เดินทางต่อด้วยรถโดยสารท้องถิ่น สาย บุรีรัมย์ – จันทบุรี  ลงหมู่บ้านตะโก  มีรถสองแถวไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
 เวลาทำการ  06.00 -18.00 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
            ที่ติดต่อ ตู้ปณ.3 ปท.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ 31110
            หมายเลขโทรศัพท์ 044-666251-2 โทรสาร 044-666252

ขอบคุณแหล่งข้อมูล และภาพประกอบ
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
วิกีพีเดีย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น