วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิวัฒนาการโหราศาสตร์ของโลก บทที่ 3 ยุคแรกแห่งการทำนายโชคชะตาของมนุษย์

บทที่ 3. ยุคแรกแห่งการทำนายโชคชะตาของมนุษย์

                       เมื่อชาวคาลเดียล (อาณาจักรบาบิโลนใหม่ ในสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ (Nebuchadnezzar, 605-562 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นผู้รับสืบทอดงานดาราศาสตร์มาจากสุเมเรียน  นาบูริแมนนู  (Naburiano or Naburimannu) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวคาลเดียน ได้นำความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ มาประยุกต์ใช้โดยกำหนด ดวงดาวสำคัญขึ้นมา 7 ดวง อันประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ (ดาวไม่มีแสงกระพริบ) เดินทางผ่านกลุ่มดาวเล็ก ๆ (ที่มีแสงกระพริบ)ที่เรียกว่า กลุ่มดาวฤกษ์ ที่มีการตั้งชื่อตามรูปลักษณะของสัตว์ที่เห็นในเวลานั้น จึงเรียกกลุ่มดาวฤกษ์เหล่านี้ “วงรอบรูปสัตว์”  (Zodiac = Zoo+ diac ) และในวงรอบรูปสัตว์เหล่านี้ก็อยู่ในแถบสำคัญบนท้องฟ้า จึงแบ่งแถบสำคัญนี้ออกเป็น 12 ส่วน จึงกลายเป็น “จักรราศี”  และเดินทางของกลุ่มดวงดาวที่ไม่มีแสงกระพริบผ่านมายังกลุ่มดาวเล็กๆที่เรียกดาวฤกษ์นี้ และ โดยไม่ออกนอกเส้นทางบนแถบสำคัญ เราเรียกว่า “การโคจรของดวงดาว”

            ดังนั้นแหล่งกำเนิดของโหราศาสตร์ คาดว่า อยู่ที่ดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ซึ่งเป็นคำกรีกโบราณมาจาก meso แปลว่า กลาง +  potamia แปลว่า แม่น้ำ  จึงหมายถึง ดินแดนระหว่างแม่น้ำ 2 สาย  คือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และ แม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates)  ดินแดนดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ดินแดนวงพระจันทร์เสี้ยวไพบูลย์”  หรือ Fertile Crescent ซึ่งเป็นดินแดนรูปครึ่งวงกลมผืนใหญ่ ที่ทอดแผ่นดินโค้งขึ้นไปจากฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปจรดอ่าวเปอร์เซีย  ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศอิรัก  แม่น้ำทั้ง 2 สาย มีต้นน้ำอยู่ใน อาร์มิเนีย และ เอเชียไมเนอร์  มาบรรจบกันเป็น แม่น้ำชัตต์อัลอาหรับ แล้วไหลลงสู่ทะเลที่ อ่าวเปอร์เซีย

             (ประเทศอาร์มิเนีย เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาคอเคซัส และอยู่ระหว่าง ทะเลดำ กับ ทะเลแคสเปียน โดยทิศเหนือ ติดกับ ประเทศจอร์เจีย และ ประเทศเอเซอร์ไบจาน  ทิศใต้ ติดกับ ประเทศอิหร่าน และ ประเทศตุรกี)
  ( เอเชียไมเนอร์ คือ ดินแดนที่เรียกว่า อานาโตเลีย  ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของทวีปเอเชีย ปัจจุบันดินแดนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศตุรกี  จากขอบเขตทางตะวันตก คือ ทะเลอีเจียน จนถึง ทางตะวันออก คือ ภูเขาชายแดนประเทศอาร์มิเนีย และทางเหนือ เทือกเขาทะเลดำ จนถึงทางใต้เทือกเขาเทารัส )

เมโสโปเตเมีย เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งทางธรรมชาติ บางครั้งอากาศอาจจะมีอุณหภูมิสูงและร้อนจัด ติดต่อกันเป็นเวลานาน ในบางครั้งอาจมีพายุฝนอย่างหนักและเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น พายุลมและพายุฝุ่น ยังเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่อาจป้องกันได้     บริเวณแม่น้ำทั้งสองสายนี้ เป็นพื้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้กลุ่มชนชาติต่าง ๆเข้ามาทำมาหากิน และสร้างอารยธรรมขึ้น จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ทำให้เกิดอารยธรรมแบบผสม
ชาวสุเมเรียน (Sumerian) เป็นคนกลุ่มแรกที่สร้างอารยธรรมเมโสโปเตเมียขึ้น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในดินแดนนี้เป็นผู้คิดประดิษฐ์ ตัวอักษรขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก เราเรียกตัวอักษรนี้ว่า อักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) มาจากภาษาละติน Cuneus   แปลว่า  ลิ่ม  จึงเรียกว่า อักษรรูปลิ่ม  เป็นระบบการเขียนที่หลากหลาย เป็นได้ทั้งอักษรพยางค์ อักษรคำ และ อักษรที่มีระบบสระ – พยัญชนะ    ตัวอักษรเหล่านี้จะถูกเขียนด้วยวัตถุที่เป็นของแข็งและแหลม  หรือ จากต้นอ้อ นำมาเขียนเรื่องราวต่าง ๆบนแผ่นดินเหนียว ที่เรียกว่า บุลลา (bulla)   มีขนาดเท่าฝ่ามือ 

            
          อักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform)
แผนที่ดาวของชาวสุเมเรียน

  ต่อมา กษัตริย์ซาร์กอนแห่งอัคคาด (Sargon of Akkad) ได้เอาชนะชาวสุเมเรียน และยึดครองดินแดนแถบนี้เมื่อประมาณ 2,330 ปี ก่อนคริสตกาล   ได้แผ่ขยายอาณาจักรอัคคาเดียน ครอบคลุมดินแดนเมโสโปเตเมีย ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน และอียิปต์ ทำให้ความรู้ของดินแดนเหล่านี้ได้ผสมผสานกัน  เกิดเป็นวิวัฒนาการของความรุ้แขนงต่าง ๆ  หลังจากยุคของพระองค์ประมาณ 100 ปี อาณาจักรอัคคาเดียนก็เสื่อมสลายลง นำไปสู่ความวุ่นวายในดินแดนแห่งนี้

             หลังจากนั้น ชนเผ่าชาวอัซซีเรียน (Assyrian) ก็มีบทบาทนำในด้านการเมืองการปกครอง   ส่วนชาวบาบิโลเนียน (Babylonian) ก็มีบทบาทนำในด้านวัฒนธรรม ซึ่งมีชาวคาลเดียน (Chaldean) ชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของบาบิโลน เป็นกลุ่มชนผู้เชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์ ทำให้โหราศาสตร์มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก (คำว่าคาลเดียน จึงมีความหมายว่า นักโหราศาสตร์)

              ในช่วงต้นของยุคเมโสโปเตเมีย โหราศาสตร์ยังอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เป็นลางบอกเหตุที่ส่งผลต่ออาณาจักร และกษัตริย์ ยังไม่มีการนำมาใช้พยากรณ์ดวงชะตาบุคคลทั่วไป ชาวเมโสโปเตเมีย (เป็นคำกลาง ๆ ที่หมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยในดินแดนแห่งนี้ในยุคนั้น) ได้พัฒนาการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าอย่างเป็นระบบ  เพื่อหารูปแบบที่ปรากฏการณ์ฟ้า ส่งผลต่อเหตุการณ์ของมนุษย์ จากบันทึกที่พบในยุคอัคคาเดียน ประมาณ 2,300 ปีก่อนคริสตกาล  ที่ว่า    “ถ้าดาวศุกร์ปรากฏ  ณ   ทิศตะวันออกในเดือน Airu โดยดาวแฝดใหญ่ และดาวแฝดเล็ก อยู่รอบเธอ และแสงสว่างของเธอดูหมองลง กษัตริย์แห่ง Elam จะล้มป่วยและสิ้นพระชนม์ลง

               นอกจากนี้ยังพบว่า  มีจารึกดาวศุกร์แห่งอัมมิซาดูกา (Venus Tables of AmmiZaduga) ซึ่งเป็นบันทึกดาวศุกร์ในช่วงต่าง ๆ อย่างเป็นระบบพร้อมลางบอกเหตุที่เกิดขึ้น  ชาวเมโสโปเตเมียเชื่อว่า ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า   ในการบันทึกพบว่าชาวเมโสโปเตเมียนิยมนำ ดาวศุกร์ หรือ เทพีอิชตาร์ (Ishtar) มาเป็นดาวที่ใช้ในการพยากรณ์มากที่สุดดวงหนึ่ง จึงนับว่า ยุคเมโสโปเตเมีย เป็นยุคที่นำความเชื่อพื้นฐานที่มาจากปรากฏการณ์บนท้องฟ้านำมาใช้ในการทำนายโชคชะตามนุษย์เป็นครั้งแรก


              
                   เทพีอิชตาร์ (Ishtar)
Sun, Moon,Star
                                           
            
           ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูล 
หลักสูตร “คัมภีร์สุริยยาตร์ ๒๕๕๐”ของมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ บรรยายโดย วรพล ไม้สน (พลังวัชร์)
                อารยธรรมตะวันตก ตอนที่ 1 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร อ.สัญชัย สุวังบุตร บรรณาธิการ 
                หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก กรุงเทพฯ

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิวัฒนาการโหราศาสตร์ของโลก บทที่ 2.1 ยุคบาบิโลน


บทที่ 2.1  "ยุคบาบิโลน "

                        จากบทที่ 2. เมื่อชัยชนะของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติเป็นผลสำเร็จ  ก่อให้เกิดองค์ความรู้ต่าง ๆขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการชลประทานซึ่งเป็นวิธีการเอาชนะธรรมชาติในการควบคุมดูแลจัดการน้ำให้เป็นไปตามความต้องการ  ยังสามารถกำหนดฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับภูมิอากาศที่เป็นอุปสรรคต่อคลังอาหารของมนุษย์   และยังได้มีการค้นพบรูปแบบงานจิตรกรรม เช่น        กำแพงอิซต้า (The Ishtar Gate) ซึ่งเป็นแผ่นกำแพงที่สวยงาม ทำจากกระเบื้องหลากสีและแกะสลักเป็นภาพสัตว์ประหลาด (ในตำนานเรียกว่ากริฟฟิน (Griffin) ลำตัวและใบหน้าเป็นสิงห์โต มีปีกเป็นนกอินทรีย์ ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่เทพเจ้า (เทพเจ้ามาร์ดุ๊ก ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดแห่งบาบิโลน) เพื่อเป็นทางนำไปสู่การขจัดปัดเป่าความหวาดกลัวให้สูญสิ้นไป

 ภาพวาดสวนลอยบาบิโลน โดย มาเตน แวน ฮีมเสติร์ก(Maarten van Heemskerck)  นักวาดภาพชาวฮอลันดา(ดัตช์)
                                                          

        เมื่อชาวคาลเดียนค้นพบความสำคัญของดวงอาทิตย์แล้ว  และจากลูกไฟใหญ่อีกดวงที่ให้ความสว่างแต่ไม่ได้ให้ความอบอุ่น ก็ให้ชื่อเรียกขานกันว่า “ดวงจันทร์” และยังค้นพบการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของดวงจันทร์ ในแต่ละวัน  เช่น การเว้าแหว่งของดวงจันทร์  ดวงจันทร์สว่างสดใสเต็มดวง ซึ่งเรียกว่า จันทร์เพ็ญ  และบางคืนมองไม่เห็นดวงจันทร์ในคืนเดือนมืด ก็จะ เรียกว่า จันทร์ดับ  ซึ่งรูปร่างต่างๆ ของดวงจันทร์จะเปลี่ยนไปทุก ๆ 29 วันครึ่ง  หรือ นับเป็น 1 เดือน เกิดเป็นเช่นนี้ประจำ และยังได้พบว่า ดวงจันทร์ก็มีปรากฎการณ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์  ในคืนเดือนเพ็ญ ที่ดวงจันทร์เต็มดวงสว่างสดใส ก็จะสังเกตเห็นได้ว่า ดวงจันทร์เริ่มเกิดการเว้าแหว่งขึ้นที่ละเล็กน้อย จนกระทั่งดวงจันทร์มืดมิดไปชั่วขณะ นั่นก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกว่า “จันทรปุราคา”  จึงได้คิดประดิษฐ์ปฎิทินจันทรคติขึ้น  และคำนวณเวลาเกิดสุริยคราส และ จันทรคราส ตลอดจนการคำนวณเวลาการโคจรของดวงอาทิตย์ในรอบปีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ยังสามารถหาเวลาที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก  

       ในบางคืน ก็จะมีดวงดาวร่วงหล่นพรั่งพรูตกลงมาจากฟากฟ้าดุจเดียวกับฝนตก  หรือ มีดาวทีมีหางยาวๆ วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าในยามราตรี  สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้า ที่ทำให้ก่อเกิดความสงสัยว่า เป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติแก่สรรพชีวิตบนพื้นโลกหรือไม่ ปรากฎการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้า ก็ให้เกิดการครอบงำให้เกิดความหวาดกลัว และการพยายามหาทางขจัดปัดเป่าให้หมดไป จึงได้เกิดมีการสมมุติเทพขึ้น และเริ่มมีกิจกรรมเกี่ยวกับพิธีกรรม เพื่อขอพรให้หมดสิ้นจากความหวาดกลัว

       จากการค้นพบบันทึกต่างๆ จะพบว่าชาวคาลเดียนเป็นผู้รับสืบทอดงานดาราศาสตร์มาจากสุเมเรียน  นาบูริแมนนู  (Naburiano or Naburimannu) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวคาลเดียน ผลงานที่ปรากฎคือ สามารถคำนวณการนับเวลาในรอบ 1 ปี เท่ากับ 354 วัน 6 ชั่วโมง   และได้รับการอุปถัมภ์ให้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับดาราศาสตร์จาก กษัตร์ดาริอุสที่หนึ่ง แห่งเปอร์เซีย( พระเจ้าดาไรอัส หรือ ดาริอุสมหาราช (549 - 486 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงเป็น มหาราชองค์ที่ 2 ต่อจาก พระเจ้าไซรัสมหาราช เป็นพระโอรสของเจ้าชายองค์หนึ่งใน  ราชวงศ์อคีเมนียะห์ โดยทรงครองราชย์เมื่อ 522 ปี ก่อนค.ศ. เมื่อพระชนม์ได้ 27 พรรษา)

        และชาวคาลเดียน เป็นชาติแรกที่ริเริ่มนำดวงดาวเล็ก  ๆ จำนวนมากมายมหาศาลบนท้องฟ้า มาจัดแบ่งออกเป็น พวกที่มีแสงกระพริบ และ ไม่กระพริบ  ก็เกิดการจัดระบบระเบียบดวงดาวบนฟากฟ้า  ส่วนที่กระพริบได้ก็จัดเข้าเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ แบ่งออกเป็น 12 กลุ่ม  ตั้งชื่อเรียกตามรูปร่างลักษณะของสัตว์ที่เป็นที่รู้จักในเวลานั้น  จึงมีคำกล่าวขานกลุ่มดาวฤกษ์นี้ว่า  วงรูปสัตว์ (Zodiac = Zoo + diac ) ซึ่งกลุ่มดาวฤกษ์เหล่านี้จะอยู่ในแถบสำคัญบนท้องฟ้า  จึงแบ่งแถบนี้ออกได้ 12 ส่วน กลายเป็น “จักรราศี” ซึ่งจะประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวที่ไม่กระพริบ ซึ่งเรียกว่า “ดาวเคราะห์”  จะเดินทางผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ (กลุ่มพวกที่มีแสงกระพริบ)แต่ละกลุ่มโดยไม่ออกนอกเส้นทาง  เราจะเรียกการเดินทางเช่นนี้ว่า ” การโคจรของดาว”

       จึงเป็นที่มาของการนำความรู้ทางดาราศาสตร์ มาเป็นศาสตร์ใหม่ ที่ได้ชื่อว่า  โหราศาสตร์  (Astrology) ซึ่งเป็นผลงานที่เด่นมาก  ซึ่งชาวคาลเดียลได้รับมาจากชาวสุเมเรียน   โดยกำหนดดวงดาวสำคัญขึ้นมา 7 ดวง ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  ดาวพุธ  ดาวศุกร์  ดาวอังคาร  ดาวพฤหัส และ ดาวเสาร์ (นี่คือกลุ่มดาวที่ไม่มีแสงกระพริบ)  โดยกำหนดให้ดาวทั้ง 7 ดวงนี้ เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่   ได้มีการตั้งชื่อเทพให้เป็นชื่อของวันต่างๆ ในหนึ่งสัปดาห์  และนำมาวางรากฐานเพื่อนำมาใช้ในการทำนายโชคชะตาของมนุษย์

              ขอบคุณ แหล่งข้อมูล

หลักสูตร “คัมภีร์สุริยยาตร์ ๒๕๕๐”ของมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์  บรรยายโดย วรพล ไม้สน (พลังวัชร์)


วิวัฒนาการโหราศาสตร์ของโลก บทที่ 2 ยุคแรกแห่งโหราศาสตร์

บทที่ 2. ยุคแรกแห่งโหราศาสตร์

                    จากปฐมบทที่แล้ว  เราจะเห็นถึงความฉลาดของมนุษย์ ที่จะพยายามเอาชนะปัญหาต่างๆ ซึ่งนำมาก่อให้เกิด ปัญญา อย่างมากมายมหาศาล  ทำให้เรารู้จักดวงอาทิตย์ ลูกไฟดวงใหญ่ที่ให้แสงสว่าง และความอบอุ่นแก่พื้นโลก บนท้องฟ้าที่มีแต่กลุ่มเมฆ ลอยเป็นเพื่อนอยู่     และเราก็ได้รู้จัก ดวงจันทร์  ลูกไฟดวงใหญ่อีกดวงที่ให้แสงสว่างนุ่มนวล  บางเวลาก็นำทางในยามมืดมิดได้  บางเวลาก็นำมาซึ่งความมืดสนิทเสียเอง แต่ก็ยังคงให้พลังงานแห่งความอบอุ่นอย่างแผ่วเบา อ่อนโยน และมาพร้อมกับผองเพื่อนดวงดาวเล็ก ๆ นับแสนล้านดวงที่มีจำนวนมากมายมหาศาลบนผืนผ้าสีดำที่เราให้สมญานามว่า “จักรวาล” ในเวลาต่อมา
             จากวัฎจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงของวัตถุบนท้องฟ้า  ก็นำมาซึ่งการสังเกตปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากมายบนท้องฟ้า เช่น  ดาวหาง ผีพุ่งใต้  ราหูอมจันทร์ หรือ จันทรุปราคา  สุริยุปราคา  คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งเรียกว่าเดือนเพ็ญ  และคืนที่ไร้พระจันทร์ เรียกว่า เดือนดับ  เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะนำมาพร้อมกับภัยพิบัติบางอย่างแก่สรรพชีวิตบนพื้นโลก ทำให้มนุษย์เกิดความหวาดกลัว และพยายามหาทางที่จะขจัดปัดเป่าให้สิ้นไป

           เมื่อประมาณ 7000 – 8000 ปี  ดินแดนลุ่มน้ำแห่งแม่น้ำ ไทกรีซ (Tigris) และแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates)เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของ ชาวบาบิโลเนียน และ ชาวอัสซิเรียน  
            ชาวบาบิโลนเนียน ได้แบ่งออกเป็น สองยุค คือยุคเก่า และยุคใหม่   ในสมัยอาณาจักรบาบิโลเนียยุคเก่า เริ่มอ่อนแอ ถูกพวก ฮิตไทด์ (Hittite) ซึ่งอพยพมาจากทางเหนือและใต้ (เทือกเขาซากรอส ) เข้าปล้นสะดมเมื่อ 1590ปีก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาพวกฮิตไทต์ก็เสียอำนาจให้แก่พวกคัสไซต์และ เข้าครอบครองกรุงบาบิโลนเป็นเวลาถึง 400 ปี


 แม่น้ำไทกริส ช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่เกษตรกรรมนอกเมืองดิยาร์บากิอร์ ประเทศตรุกี

                                          
แม่นำ้ยูเฟรทีส (Euphrates) ในประเทศอิรัก  
                 อาณาจักรบาบิโลเนียใหม่เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาก ในสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ (Nebuchadnezzar, 605-562 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พวกคาลเดียนสามารถยกกองทัพไปตีได้เมืองเยรูซาเลม และกวาดต้อนเชลยชาวยิวมายังกรุงบาบิโลนได้เป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการสร้างสวนขนาดใหญ่เรียกว่า สวนลอยแห่งบาบิโลน (Hanging Gardens of Babylon) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณเพราะสามารถใช้ความรู้ในการทำชลประทาน  ทำให้สวนลอยนี้เขียวขจีได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้นพวกคาลเดียนในบาบิโลเนียใหม่ยังปรับปรุงด้านเกษตรกรรม และเริ่มต้นงานด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางดาราศาสตร์   เกิดจากการสังเกตเงาที่เกิดขึ้นในรอบวัน  จึงนำการเกิดเงา มาใช้ในการบอกเวลา  โดยกำหนดให้ 1 วันมี 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นชั่วโมงแรก  และได้มีการแบ่งสัปดาห์ออกเป็น 7 วัน แบ่งวันออกเป็น 12 คาบ คาบละ 120 นาที  พร้อมกับสังเกตุเห็นการขึ้นลงของดวงอาทิตย์ที่ขอบฟ้า  เคลื่อนย้ายตำแหน่งขึ้น และลง แตกต่างกันในแต่ละฤดู จึงนำมาเป็นตัวกำหนดฤดูกาลเก็บเกี่ยวให้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์อีกด้วย

ด้วยความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะอุปสรรค ก็ให้เกิดปัญญา และ องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกสรรพสิ่งบนพื้นโลก จากการสังเกตดวงลูกไฟใหญ่ที่ให้แสงสว่าง และความอบอุ่น  เป็นแหล่งก่อให้เกิดสรรพชีวิตขึ้นมากมาย เล็งเห็นความสำคัญของเจ้าลูกไฟดวงใหญ่ดวงนี้ จึงเรียกเจ้าลูกไฟใหญ่นี้ว่า  “ดวงอาทิตย์ ”  จึงได้มีการกำหนดวันเทศกาลต่าง ๆ   และฤดูการเก็บเกี่ยวได้แน่นอนขึ้นกว่าเดิม  อีกทั้งยังค้นพบปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่ดวงอาทิตย์ดับมืดไปในเวลากลางวัน  แล้วก็กลับสว่างขึ้นมาอีกครั้ง ในเวลาใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่า “สุริยุปราคา”  


    ขอบคุณ แหล่งข้อมูล

หลักสูตร “คัมภีร์สุริยยาตร์ ๒๕๕๐”ของมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์  บรรยายโดย วรพล ไม้สน (พลังวัชร์)

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิวัฒนาการโหราศาสตร์ของโลก บทที่ 1

บทที่ 1.วิทยาการโหราศาสตร์

                      ก่อนจะเป็นวันนี้   จากความพยายามของมนุษย์  ที่จะแก้ปัญหาเพื่อเอาชนะความอดอยาก ความหิวโหย ความเจ็บไข้ได้ป่วย  ความทุกข์ยาก ความลำบาก ความหวาดกลัวต่อสิ่งที่ต้องเผชิญหน้าโดยมิได้เตรียมระมัดระวัง กับความโหดร้ายที่มาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นับตั้งแต่มีมนุษย์อุบัติขึ้นมาบนโลกใบนี้  เมื่อการเผชิญหน้ากับความทารุณโหดร้าย ที่มนุษย์ได้รับจากธรรมชาติ เป็นเหตุนำมาแห่งปัญหาในวิถีชีวิตของมนุษย์  ปัญหาต่างๆ เหล่านั้น เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า วันแล้ววันเล่า  ผ่านกลางวัน ผ่านกลางคืน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน ผ่านความแห้งแล้ง วนเวียนซ้ำซากเช่นนี้เรื่อยมา 


                เมื่อปัญหาในการดำเนินวิถีชีวิตมนุษย์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก  ถูกสะสมปัญหานานวัน ตัวปัญหาเริ่มหนาขึ้นเห็นภาพของปัญหาชัดขึ้น และเพื่อที่มนุษย์จำเป็นต้องอยู่รอด ก็เริ่มค้นหาที่มาของปัญหา เริ่มเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต จากก้มหน้าดูดินเพื่อหาบางสิ่งบางอย่างยังชีพ แหงนมองขึ้นเบื้องบน (อาจจะแอบบ่น น้อยใจอะไรบ้างละน๊า ซึ่งตอนนั้นคงยังไม่มีใครนึกถึงเทพเจ้าบนฟ้าหรอก) อะไรที่เคยมีมันหายไปไหนหมด ฝนไปไหน ทำไมมีอะไรสีขาวๆเย็นตกลงมาแทน แผ่นดินก็หายไปหมดมีแต่พื้นดินสีขาวโพล้น ต้นไม้ก็ไม่มีผล สัตว์ป่าก็หายเงียบไปหมด แล้ววันดีคืนดี ทุกอย่างก็ผลิบาน สัตว์ป่าออกมาวิ่งเล่นกันเต็มท้องทุ่ง ต้นไม้ที่เคยเห็นเหมือนมันตายไปแล้วกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง พร้อมกับออกผลกันอย่างเต็มที่  ความอุดมสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง  แล้ววันดีคืนดีก็หายสาบสูญกันไปอีก  วันแล้ววันเล่า  เดือนแล้วเดือนเล่า จนมนุษย์เริ่มสังเกตเห็นความแตกต่าง เห็นวัฎจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบของฤดูกาล
               บางเวลาเห็นลูกไฟใหญ่ ให้แสงสว่างและความอบอุ่นจนถึงร้อน และร้อนมาก มายังพื้นดินที่พวกเราอยู่   ในบางเวลาเห็นดวงลูกไฟใหญ่ ให้แสงสว่าง  แต่ไม่ได้ให้ความอบอุ่นจนถึงร้อน ร้อนมาก เหมือนลูกไฟใหญ่อีกดวง แต่ในบางเวลาเบื้องบนก็จะเต็มไปด้วยแผ่นพื้นสีดำสุดลูกหูลูกตา  พร้อมกับวัตถุเล็ก ๆเป็นจำนวนมาก มากมายมหาศาล บ้างก็ระยิบระยับ บ้างก็ส่งแสงนิ่งๆ อยู่เต็มบนนั้น และมนุษย์ก็เริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบของวัตถุเบื้องบนนั้น

                ปัญหาสอนให้มนุษย์ฉลาดขึ้น  มนุษย์พยายามค้นหาความจริงเกี่ยวกับวัฎจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างเป็นระบบ  หาสาเหตุแห่งการเกิดปรากฎการณ์ต่าง ๆ แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ ทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นไปอย่างปรกติสุข  ก่อให้เกิดการเรียนรู้ผลักดันให้มนุษย์ คิดค้น ประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆขึ้นมามากมาย คิดค้นหาคำเรียกชื่อสิ่งเหล่านั้นเพื่อการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ เพื่อช่วยในการค้นหาความจริงที่มากกว่า  วัฎจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงของวัตถุบนฟากฟ้า และ วัฎจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล  แล้ว สิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องค้นหาต่อไป คือ “ วัฎจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่า  มนุษย์ มาจากไหน   ทำให้วิทยาการ หรือ ศาสตร์ต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ศาสตร์ต่าง ๆที่ว่า ก็รวมถึง ศาสตร์แห่งท้องฟ้า จนพัฒนามาเป็น  วิชาดาราศาสตร์ ในปัจจุบัน