วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิวัฒนาการโหราศาสตร์ของโลก บทที่ 3 ยุคแรกแห่งการทำนายโชคชะตาของมนุษย์

บทที่ 3. ยุคแรกแห่งการทำนายโชคชะตาของมนุษย์

                       เมื่อชาวคาลเดียล (อาณาจักรบาบิโลนใหม่ ในสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ (Nebuchadnezzar, 605-562 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นผู้รับสืบทอดงานดาราศาสตร์มาจากสุเมเรียน  นาบูริแมนนู  (Naburiano or Naburimannu) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวคาลเดียน ได้นำความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ มาประยุกต์ใช้โดยกำหนด ดวงดาวสำคัญขึ้นมา 7 ดวง อันประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ (ดาวไม่มีแสงกระพริบ) เดินทางผ่านกลุ่มดาวเล็ก ๆ (ที่มีแสงกระพริบ)ที่เรียกว่า กลุ่มดาวฤกษ์ ที่มีการตั้งชื่อตามรูปลักษณะของสัตว์ที่เห็นในเวลานั้น จึงเรียกกลุ่มดาวฤกษ์เหล่านี้ “วงรอบรูปสัตว์”  (Zodiac = Zoo+ diac ) และในวงรอบรูปสัตว์เหล่านี้ก็อยู่ในแถบสำคัญบนท้องฟ้า จึงแบ่งแถบสำคัญนี้ออกเป็น 12 ส่วน จึงกลายเป็น “จักรราศี”  และเดินทางของกลุ่มดวงดาวที่ไม่มีแสงกระพริบผ่านมายังกลุ่มดาวเล็กๆที่เรียกดาวฤกษ์นี้ และ โดยไม่ออกนอกเส้นทางบนแถบสำคัญ เราเรียกว่า “การโคจรของดวงดาว”

            ดังนั้นแหล่งกำเนิดของโหราศาสตร์ คาดว่า อยู่ที่ดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ซึ่งเป็นคำกรีกโบราณมาจาก meso แปลว่า กลาง +  potamia แปลว่า แม่น้ำ  จึงหมายถึง ดินแดนระหว่างแม่น้ำ 2 สาย  คือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และ แม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates)  ดินแดนดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ดินแดนวงพระจันทร์เสี้ยวไพบูลย์”  หรือ Fertile Crescent ซึ่งเป็นดินแดนรูปครึ่งวงกลมผืนใหญ่ ที่ทอดแผ่นดินโค้งขึ้นไปจากฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปจรดอ่าวเปอร์เซีย  ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศอิรัก  แม่น้ำทั้ง 2 สาย มีต้นน้ำอยู่ใน อาร์มิเนีย และ เอเชียไมเนอร์  มาบรรจบกันเป็น แม่น้ำชัตต์อัลอาหรับ แล้วไหลลงสู่ทะเลที่ อ่าวเปอร์เซีย

             (ประเทศอาร์มิเนีย เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาคอเคซัส และอยู่ระหว่าง ทะเลดำ กับ ทะเลแคสเปียน โดยทิศเหนือ ติดกับ ประเทศจอร์เจีย และ ประเทศเอเซอร์ไบจาน  ทิศใต้ ติดกับ ประเทศอิหร่าน และ ประเทศตุรกี)
  ( เอเชียไมเนอร์ คือ ดินแดนที่เรียกว่า อานาโตเลีย  ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของทวีปเอเชีย ปัจจุบันดินแดนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศตุรกี  จากขอบเขตทางตะวันตก คือ ทะเลอีเจียน จนถึง ทางตะวันออก คือ ภูเขาชายแดนประเทศอาร์มิเนีย และทางเหนือ เทือกเขาทะเลดำ จนถึงทางใต้เทือกเขาเทารัส )

เมโสโปเตเมีย เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งทางธรรมชาติ บางครั้งอากาศอาจจะมีอุณหภูมิสูงและร้อนจัด ติดต่อกันเป็นเวลานาน ในบางครั้งอาจมีพายุฝนอย่างหนักและเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น พายุลมและพายุฝุ่น ยังเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่อาจป้องกันได้     บริเวณแม่น้ำทั้งสองสายนี้ เป็นพื้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้กลุ่มชนชาติต่าง ๆเข้ามาทำมาหากิน และสร้างอารยธรรมขึ้น จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ทำให้เกิดอารยธรรมแบบผสม
ชาวสุเมเรียน (Sumerian) เป็นคนกลุ่มแรกที่สร้างอารยธรรมเมโสโปเตเมียขึ้น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในดินแดนนี้เป็นผู้คิดประดิษฐ์ ตัวอักษรขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก เราเรียกตัวอักษรนี้ว่า อักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) มาจากภาษาละติน Cuneus   แปลว่า  ลิ่ม  จึงเรียกว่า อักษรรูปลิ่ม  เป็นระบบการเขียนที่หลากหลาย เป็นได้ทั้งอักษรพยางค์ อักษรคำ และ อักษรที่มีระบบสระ – พยัญชนะ    ตัวอักษรเหล่านี้จะถูกเขียนด้วยวัตถุที่เป็นของแข็งและแหลม  หรือ จากต้นอ้อ นำมาเขียนเรื่องราวต่าง ๆบนแผ่นดินเหนียว ที่เรียกว่า บุลลา (bulla)   มีขนาดเท่าฝ่ามือ 

            
          อักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform)
แผนที่ดาวของชาวสุเมเรียน

  ต่อมา กษัตริย์ซาร์กอนแห่งอัคคาด (Sargon of Akkad) ได้เอาชนะชาวสุเมเรียน และยึดครองดินแดนแถบนี้เมื่อประมาณ 2,330 ปี ก่อนคริสตกาล   ได้แผ่ขยายอาณาจักรอัคคาเดียน ครอบคลุมดินแดนเมโสโปเตเมีย ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน และอียิปต์ ทำให้ความรู้ของดินแดนเหล่านี้ได้ผสมผสานกัน  เกิดเป็นวิวัฒนาการของความรุ้แขนงต่าง ๆ  หลังจากยุคของพระองค์ประมาณ 100 ปี อาณาจักรอัคคาเดียนก็เสื่อมสลายลง นำไปสู่ความวุ่นวายในดินแดนแห่งนี้

             หลังจากนั้น ชนเผ่าชาวอัซซีเรียน (Assyrian) ก็มีบทบาทนำในด้านการเมืองการปกครอง   ส่วนชาวบาบิโลเนียน (Babylonian) ก็มีบทบาทนำในด้านวัฒนธรรม ซึ่งมีชาวคาลเดียน (Chaldean) ชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของบาบิโลน เป็นกลุ่มชนผู้เชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์ ทำให้โหราศาสตร์มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก (คำว่าคาลเดียน จึงมีความหมายว่า นักโหราศาสตร์)

              ในช่วงต้นของยุคเมโสโปเตเมีย โหราศาสตร์ยังอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เป็นลางบอกเหตุที่ส่งผลต่ออาณาจักร และกษัตริย์ ยังไม่มีการนำมาใช้พยากรณ์ดวงชะตาบุคคลทั่วไป ชาวเมโสโปเตเมีย (เป็นคำกลาง ๆ ที่หมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยในดินแดนแห่งนี้ในยุคนั้น) ได้พัฒนาการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าอย่างเป็นระบบ  เพื่อหารูปแบบที่ปรากฏการณ์ฟ้า ส่งผลต่อเหตุการณ์ของมนุษย์ จากบันทึกที่พบในยุคอัคคาเดียน ประมาณ 2,300 ปีก่อนคริสตกาล  ที่ว่า    “ถ้าดาวศุกร์ปรากฏ  ณ   ทิศตะวันออกในเดือน Airu โดยดาวแฝดใหญ่ และดาวแฝดเล็ก อยู่รอบเธอ และแสงสว่างของเธอดูหมองลง กษัตริย์แห่ง Elam จะล้มป่วยและสิ้นพระชนม์ลง

               นอกจากนี้ยังพบว่า  มีจารึกดาวศุกร์แห่งอัมมิซาดูกา (Venus Tables of AmmiZaduga) ซึ่งเป็นบันทึกดาวศุกร์ในช่วงต่าง ๆ อย่างเป็นระบบพร้อมลางบอกเหตุที่เกิดขึ้น  ชาวเมโสโปเตเมียเชื่อว่า ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า   ในการบันทึกพบว่าชาวเมโสโปเตเมียนิยมนำ ดาวศุกร์ หรือ เทพีอิชตาร์ (Ishtar) มาเป็นดาวที่ใช้ในการพยากรณ์มากที่สุดดวงหนึ่ง จึงนับว่า ยุคเมโสโปเตเมีย เป็นยุคที่นำความเชื่อพื้นฐานที่มาจากปรากฏการณ์บนท้องฟ้านำมาใช้ในการทำนายโชคชะตามนุษย์เป็นครั้งแรก


              
                   เทพีอิชตาร์ (Ishtar)
Sun, Moon,Star
                                           
            
           ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูล 
หลักสูตร “คัมภีร์สุริยยาตร์ ๒๕๕๐”ของมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ บรรยายโดย วรพล ไม้สน (พลังวัชร์)
                อารยธรรมตะวันตก ตอนที่ 1 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร อ.สัญชัย สุวังบุตร บรรณาธิการ 
                หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก กรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น