วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิวัฒนาการโหราศาสตร์ของโลก บทที่ 2.1 ยุคบาบิโลน


บทที่ 2.1  "ยุคบาบิโลน "

                        จากบทที่ 2. เมื่อชัยชนะของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติเป็นผลสำเร็จ  ก่อให้เกิดองค์ความรู้ต่าง ๆขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการชลประทานซึ่งเป็นวิธีการเอาชนะธรรมชาติในการควบคุมดูแลจัดการน้ำให้เป็นไปตามความต้องการ  ยังสามารถกำหนดฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับภูมิอากาศที่เป็นอุปสรรคต่อคลังอาหารของมนุษย์   และยังได้มีการค้นพบรูปแบบงานจิตรกรรม เช่น        กำแพงอิซต้า (The Ishtar Gate) ซึ่งเป็นแผ่นกำแพงที่สวยงาม ทำจากกระเบื้องหลากสีและแกะสลักเป็นภาพสัตว์ประหลาด (ในตำนานเรียกว่ากริฟฟิน (Griffin) ลำตัวและใบหน้าเป็นสิงห์โต มีปีกเป็นนกอินทรีย์ ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่เทพเจ้า (เทพเจ้ามาร์ดุ๊ก ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดแห่งบาบิโลน) เพื่อเป็นทางนำไปสู่การขจัดปัดเป่าความหวาดกลัวให้สูญสิ้นไป

 ภาพวาดสวนลอยบาบิโลน โดย มาเตน แวน ฮีมเสติร์ก(Maarten van Heemskerck)  นักวาดภาพชาวฮอลันดา(ดัตช์)
                                                          

        เมื่อชาวคาลเดียนค้นพบความสำคัญของดวงอาทิตย์แล้ว  และจากลูกไฟใหญ่อีกดวงที่ให้ความสว่างแต่ไม่ได้ให้ความอบอุ่น ก็ให้ชื่อเรียกขานกันว่า “ดวงจันทร์” และยังค้นพบการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของดวงจันทร์ ในแต่ละวัน  เช่น การเว้าแหว่งของดวงจันทร์  ดวงจันทร์สว่างสดใสเต็มดวง ซึ่งเรียกว่า จันทร์เพ็ญ  และบางคืนมองไม่เห็นดวงจันทร์ในคืนเดือนมืด ก็จะ เรียกว่า จันทร์ดับ  ซึ่งรูปร่างต่างๆ ของดวงจันทร์จะเปลี่ยนไปทุก ๆ 29 วันครึ่ง  หรือ นับเป็น 1 เดือน เกิดเป็นเช่นนี้ประจำ และยังได้พบว่า ดวงจันทร์ก็มีปรากฎการณ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์  ในคืนเดือนเพ็ญ ที่ดวงจันทร์เต็มดวงสว่างสดใส ก็จะสังเกตเห็นได้ว่า ดวงจันทร์เริ่มเกิดการเว้าแหว่งขึ้นที่ละเล็กน้อย จนกระทั่งดวงจันทร์มืดมิดไปชั่วขณะ นั่นก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกว่า “จันทรปุราคา”  จึงได้คิดประดิษฐ์ปฎิทินจันทรคติขึ้น  และคำนวณเวลาเกิดสุริยคราส และ จันทรคราส ตลอดจนการคำนวณเวลาการโคจรของดวงอาทิตย์ในรอบปีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ยังสามารถหาเวลาที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก  

       ในบางคืน ก็จะมีดวงดาวร่วงหล่นพรั่งพรูตกลงมาจากฟากฟ้าดุจเดียวกับฝนตก  หรือ มีดาวทีมีหางยาวๆ วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าในยามราตรี  สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้า ที่ทำให้ก่อเกิดความสงสัยว่า เป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติแก่สรรพชีวิตบนพื้นโลกหรือไม่ ปรากฎการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้า ก็ให้เกิดการครอบงำให้เกิดความหวาดกลัว และการพยายามหาทางขจัดปัดเป่าให้หมดไป จึงได้เกิดมีการสมมุติเทพขึ้น และเริ่มมีกิจกรรมเกี่ยวกับพิธีกรรม เพื่อขอพรให้หมดสิ้นจากความหวาดกลัว

       จากการค้นพบบันทึกต่างๆ จะพบว่าชาวคาลเดียนเป็นผู้รับสืบทอดงานดาราศาสตร์มาจากสุเมเรียน  นาบูริแมนนู  (Naburiano or Naburimannu) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวคาลเดียน ผลงานที่ปรากฎคือ สามารถคำนวณการนับเวลาในรอบ 1 ปี เท่ากับ 354 วัน 6 ชั่วโมง   และได้รับการอุปถัมภ์ให้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับดาราศาสตร์จาก กษัตร์ดาริอุสที่หนึ่ง แห่งเปอร์เซีย( พระเจ้าดาไรอัส หรือ ดาริอุสมหาราช (549 - 486 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงเป็น มหาราชองค์ที่ 2 ต่อจาก พระเจ้าไซรัสมหาราช เป็นพระโอรสของเจ้าชายองค์หนึ่งใน  ราชวงศ์อคีเมนียะห์ โดยทรงครองราชย์เมื่อ 522 ปี ก่อนค.ศ. เมื่อพระชนม์ได้ 27 พรรษา)

        และชาวคาลเดียน เป็นชาติแรกที่ริเริ่มนำดวงดาวเล็ก  ๆ จำนวนมากมายมหาศาลบนท้องฟ้า มาจัดแบ่งออกเป็น พวกที่มีแสงกระพริบ และ ไม่กระพริบ  ก็เกิดการจัดระบบระเบียบดวงดาวบนฟากฟ้า  ส่วนที่กระพริบได้ก็จัดเข้าเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ แบ่งออกเป็น 12 กลุ่ม  ตั้งชื่อเรียกตามรูปร่างลักษณะของสัตว์ที่เป็นที่รู้จักในเวลานั้น  จึงมีคำกล่าวขานกลุ่มดาวฤกษ์นี้ว่า  วงรูปสัตว์ (Zodiac = Zoo + diac ) ซึ่งกลุ่มดาวฤกษ์เหล่านี้จะอยู่ในแถบสำคัญบนท้องฟ้า  จึงแบ่งแถบนี้ออกได้ 12 ส่วน กลายเป็น “จักรราศี” ซึ่งจะประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวที่ไม่กระพริบ ซึ่งเรียกว่า “ดาวเคราะห์”  จะเดินทางผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ (กลุ่มพวกที่มีแสงกระพริบ)แต่ละกลุ่มโดยไม่ออกนอกเส้นทาง  เราจะเรียกการเดินทางเช่นนี้ว่า ” การโคจรของดาว”

       จึงเป็นที่มาของการนำความรู้ทางดาราศาสตร์ มาเป็นศาสตร์ใหม่ ที่ได้ชื่อว่า  โหราศาสตร์  (Astrology) ซึ่งเป็นผลงานที่เด่นมาก  ซึ่งชาวคาลเดียลได้รับมาจากชาวสุเมเรียน   โดยกำหนดดวงดาวสำคัญขึ้นมา 7 ดวง ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  ดาวพุธ  ดาวศุกร์  ดาวอังคาร  ดาวพฤหัส และ ดาวเสาร์ (นี่คือกลุ่มดาวที่ไม่มีแสงกระพริบ)  โดยกำหนดให้ดาวทั้ง 7 ดวงนี้ เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่   ได้มีการตั้งชื่อเทพให้เป็นชื่อของวันต่างๆ ในหนึ่งสัปดาห์  และนำมาวางรากฐานเพื่อนำมาใช้ในการทำนายโชคชะตาของมนุษย์

              ขอบคุณ แหล่งข้อมูล

หลักสูตร “คัมภีร์สุริยยาตร์ ๒๕๕๐”ของมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์  บรรยายโดย วรพล ไม้สน (พลังวัชร์)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น